วันที่ 11 กันยายน 2014 โดย Ben Michell
บทความนี้ถูกเขียนขึ้นจากสาเหตุหลายประการที่นำมาสู่ทิศทางเดียวกัน เราลองมาดูกันว่า ภาษาไทยที่มักจะถูกยกเป็นตัวอย่างว่าเป็นระบบการเขียนที่เป็นแบบเสมือนตัวละติน เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ การแบ่งประเภทว่า ตัวอักษรไทยแบบมีหัวเป็นแบบตัวดั้งเดิม และอักษรไทยแบบไม่มีหัวเป็นแบบเสมือนละติน แต่การแบ่งอย่างนี้เป็นการวิเคราะห์ที่ถูกต้องหรือไม่
Latinisation (แบบเสมือนตัวละติน) และ ความยากของลายเส้นที่ซับซ้อน ทับกันไปมา ซึ่งไม่สามารถลดทอนออกจากกันได้ง่ายๆ เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกถกเถียงกันในหมู่นักออกแบบตัวอักษรที่ทำงานกับตัวอักษรไทย ผมไม่ได้ตั้งใจมาสรุปประเด็นนี้ แต่จะมาให้ข้อสังเกตุและความเห็นส่วนตัวเผื่อที่จะได้ใช้เป็นแนวคิดใหม่ๆ โดยในการค้นคว้าของผมยังไม่ชัดเจนในบางประเด็น และผมก็จะไม่ด่วนสรุปเรื่องนี้โดยการคาดเดา และหวังว่า จะมีใครมาช่วยแก้ไขบทความนี้ ถ้าผมมองข้ามประเด็นที่สำคัญไปหรือเขียนบทความนี้ไม่ถูกต้อง
ผมแบ่งประเด็นนี้ออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
อธิบายง่ายๆ ว่า กระบวนการ Latinisation จะเกิดขึ้นเวลาที่นักออกแบบใช้ตัวอักษร A, B และ C ในภาษาอังกฤษ (เรียกอีกอย่างว่า ตัวละติน) เพื่อเป็นแบบอ้างอิงในการออกแบบตัวอักษรในภาษาอื่นๆ ซึ่งตัวอักษรละตินนั้นถูกคิดค้นมานานหลายร้อยปีแล้ว และถูกถ่ายทอดไปยังวิธีการเขียนตัวอักษรในภาษาอื่นอีกหลายรูปแบบ ซึ่งมีอยู่หลายภาษาที่ใช้ตัวอักษรละตินในการเขียนตัวอักษรทุกตัว หรือจะเป็นแค่วิธีการออกแบบตัวอักษรแบบ ตัวหนา (Bold) และ ตัวเอน (Italic) ในภาษาอื่นๆ ให้สอดคล้องกับการนำไปใช้งานร่วมกับตัวอักษรแบบละตินก็ตาม ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “แบบเสมือนตัวละติน”
จากหลักการวิเคราะห์ข้างต้น ภาษาไทยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มตัวอักษรที่ได้รับอิทธิพลมาจากตัวละติน ซึ่งรวมถึงตัวอักษรในบรรดาภาษาอาร์มีเนียและกรีก และจากการเปรียบเทียบ ดุลยภาพของเส้นที่ทำให้เกิดช่องว่างในตัวอักษร สัดส่วนของตัวอักษร และจังหวะในการมองเห็นคำแต่ละคำ ของ ตัวอักษรในกลุ่มแรก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอาร์มีเนีย ภาษากรีก และ ภาษาละติน กับ ตัวอักษรในกลุ่มที่สอง ได้แก่ ภาษาจีน ตัวอักษรเทวนาครี (ภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต ภาษามราฐี ภาษาบาลี ภาษาสินธี ภาษาเนปาล และภาษาอื่นๆ ในประเทศอินเดีย) และ ภาษาอารบิก จะเห็นได้ว่า ตัวอักษรในกลุ่มแรกจะดูแล้วเกิดความสับสนได้ง่ายกว่ากลุ่มที่สอง
นอกจากนั้น ขาของตัวอักษรที่เป็นเส้นตรงกับส่วนโค้งของตัวอักษรในการเขียนตัวอักษรไทย ยังมีส่วนคล้ายกับตัวละติน มากกว่าภาษากรีกเสียอีก ส่วนในภาษาอาร์มีเนีย ก็จะมีหางยาวออกไปมากกว่า มีเส้นพาดกลางตัวอักษรมากกว่า แต่มักจะไม่มีช่องว่างในตัวอักษรที่ซับซ้อนมากนัก (อย่างเช่นตัว a, e, g, s, ด, ธ, ย, ล หรือ ฮ) สิ่งเหล่านี้ทำให้รูปร่างของตัวอักษรไทยมีส่วนคล้ายกับตัวละติน ถึงแม้ว่าจะจงใจหรือไม่ได้จงใจทำให้เป็นแบบตัวละตินก็ตาม
ในการเปรียบเทียบตัวอักษรไทยกับตัวละติน คนส่วนใหญ่จะเห็นจุดหลักที่แตกต่างกันคือ หัวของตัวอักษร (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของตัวอักษรไทย) และมักจะสรุปกันว่า ตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัวเป็นตัวอักษรแบบเสมือนตัวละติน ผมคิดว่า มันเป็นบทสรุปที่ง่ายเกินไปและเป็นความเชื่อของนักออกแบบที่ไม่ได้ทำงานกับตัวอักษรไทยเป็นหลัก แต่สำหรับคนที่รู้จักภาษาไทยเป็นอย่างดี (อย่างเช่นนักออกแบบตัวอักษรไทย) จะเปรียบหัวของตัวอักษรไทยเป็นเหมือนกับเชิง (Serif) ของตัวอักษรละตินมากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า มันเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมที่ช่วยให้สามารถอ่านตัวอักษรได้ชัดเจนขึ้น ส่วนตัวผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดเหล่านี้เท่าไรนัก เรื่องนี้มันเปรียบเทียบกันตรงๆ แบบนี้ไม่ได้
ตัวอักษรไทย แบบมีหัว (แถวบน) กับ แบบไม่มีหัว (แถวล่าง)
จากตัวอย่างแบบตัวพิมพ์ไทยข้างต้น ตัวแถวบน มักจะถูกใช้ในส่วนที่เป็นเนื้อหา ส่วนตัวแถวล่าง จะใช้เป็นหัวข้อหรือชื่อเรื่อง ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการเลือกใช้ตัวอักษรละตินแบบ serif และ sans แต่สิ่งที่ต่างจากตัวอักษรแบบ serif คือ หัวของตัวอักษรไทย ถ้าหันไปคนละด้านกัน จะทำให้กลายเป็นตัวอักษรอีกตัวนึง นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมไม่คิดว่า loop (หัวของตัวอักษรไทย) จะเปรียบได้กับ serif (เชิงของตัวอักษรละติน)
สำหรับตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัว นักออกแบบก็จะพยายามหาวิธีดัดแปลงตัวอักษร โดยจะเห็นได้จากตัวแถวล่าง ที่มักจะใช้เป็นวิธีลดทอนหัวของตัวอักษรในการออกแบบตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัว
ตัวอักษรแบบมีหัว
ตัวอักษรแบบไม่มีหัว
ข้อแตกต่างระหว่าง ตัวอักษรไทย แบบมีหัว กับ แบบไม่มีหัว
ลองดูจากโครงสร้างอักษรไทยของผม ซึ่งผมจะชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างหัวกลมของตัวอักษรไทยทั้ง 2 แบบ ได้แก่ หัว (heads) และ ขมวด (knots)
รายละเอียดโครงสร้างส่วนต่างๆ ของตัวอักษรไทย
หัวของตัวอักษร (head) เป็นจุดที่ใช้เริ่มเขียนตัวอักษร ซึ่งตำแหน่งของมันจะขึ้นอยู่ที่ว่า เส้นของตัวอักษรลากไปทางไหน บางตัวจะอยู่ที่ด้านบน บางตัวก็จะอยู่ที่ตรงกลาง และบางตัวก็อาจจะอยู่ที่ด้านล่าง ตัวอักษรแต่ละแบบ อาจจะไม่จำเป็นต้องมีหัวก็ได้ เพียงแต่ต้องทำให้ดูออกว่าเป็นตัวอักษรตัวใด
ส่วนหัวกลมอีกแบบหนึ่งในตัวอักษรไทยคือ ขมวด (knot) ซึ่งสามารถลดทอนได้ แต่จำเป็นต้องคงไว้ในตัวอักษร ลักษณะรูปร่างมักจะแตกต่างจากวิธีการออกแบบหัวของตัวอักษร ให้ลองดูจากรูปด้านล่าง ขมวด (ในวงกลมสีเหลือง) จะค่อยๆ ถูกลดทอนลงไป ในขณะที่หัวจะค่อยๆ หายไปจนไม่เหลืออยู่เลย
ขมวด (ขมวดหน้า ขมวดใน และขมวดหลัง) จะยังคงอยู่ ถึงแม้ว่า หัวของตัวอักษร ถูกลดทอนลงเรื่อยๆ จนหายไป
คนไทยเชื่อกันว่า ตัวอักษรไทยเริ่มต้นขึ้นในสมัยสุโขทัย (พุทธศักราช ๑๗๘๑ – ๑๙๘๑) ซึ่งตัวอักษรในยุคสมัยนั้นก็เป็นการเขียน ตัวอักษรแบบไม่มีหัว
ลายสือไทย ในสมัยสุโขทัย (แถวล่าง) เป็นการเขียน ตัวอักษรแบบไม่มีหัว
ตามรูปด้านบน ผมได้ลองทำตัวอย่างเปรียบเทียบรูปร่างตัวอักษร จากหลักฐานที่ถูกจัดแสดงใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยการค้นพบ ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง (พ.ศ. ๑๙๐๔) และ ศิลาจารึกปู่ขุดจิดขุนจอด (พ.ศ. ๑๙๓๕) ที่พบบริเวณริมเสาเบื้องขวาหน้าวิหารหลวง ด้านหลังวิหารสูง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย จะเห็นได้ว่า จากสายเส้นที่เขียน หัวของตัวอักษรไม่ได้ถูกเขียนเป็น หัวกลม แต่จะเขียนเป็นลักษณะเหมือนตะขอโค้งแทน โดยไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่า เริ่มมีใช้กันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่จะเห็นได้ว่า เป็นรูปแบบการเขียนเพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น (จากบทความที่ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องฟอนต์ไทยจากเว็บไซต์ Linotype ว่าเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ) ซึ่งค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็น ตัวอักษรแบบมีหัว (พ.ศ. ๑๘๔๓ – ๒๓๔๓)
ดูราวกับว่า หัวกลม จะเป็นการเติมแต่งรายละเอียดให้กับตัวอักษร จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวอักษรในเวลาต่อมา ถ้าวิเคราะห์จากหลักฐานทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ข้อมูลจากหนังสือ Indian Palaeography โดย อาหมัด ฮะซัน แดนี, พ.ศ. ๒๕๒๙) อธิบายไว้อย่างกว้างๆ ในเรื่องระบบการเขียนว่า ตัวอักษรมีวิวัฒนาการทุกแห่งหน ผู้คนจะตกแต่งให้สวยขึ้น ลดทอนให้ง่ายขึ้น ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น ทำให้คล้ายกัน ทำให้แตกต่างกัน กลับด้าน พลิก หมุน ตัดออก รวมกัน เพิ่มเติม ยืดและหด ตัวอักษร (หรือบางส่วนของตัวอักษร) อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น หัวของตัวอักษรอินเดีย ซึ่งมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันถึง 9 แบบ เริ่มจากแบบตัวอักษรเทวนาครี เส้นนอนบนทรงสามเหลี่ยมของตัวอักษรที่มีทั้งแบบเปิดและปิด ไปจนเป็นแบบรอยหยักรูปตัววี เส้นทรงสี่เหลี่ยมแบบเปิดและปิด และแบบอื่นๆ
จากบริบทนี้ มันน่าประหลาดใจที่คนบางกลุ่มมาคอยกังวลกับเรื่องหัวกลมของตัวอักษรว่า มีหรือไม่มี เป็นการทำให้เป็นแบบตัวเสมือนละตินหรือไม่ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ในตระกูลอักษรพราหมี จากการเปลี่ยนแปลงซ้ำไปซ้ำมาจนทำให้หัวกลมของตัวอักษรเป็นส่วนหนึ่งของตัวอักษรไทย (เช่นเดียวกับตัวอักษรลาวและไทยล้านนา แต่จะมีรูปร่างแตกต่างไปบ้างในตัวอักษรเขมรและขอม)
ในขณะที่มีการแต่งเติมรูปแบบตัวอักษรมากขึ้น ระบบการพิมพ์ก็ต้องมีการพัฒนาตามไปด้วย สำหรับการพิมพ์นั้น ตัวอักษรต้องถูกทำให้ได้มาตรฐาน จึงมีการลดทอนรูปแบบตัวอักษรเพื่อให้ชัดเจนขึ้น และการแยกตัวอักษรให้เป็นตัวๆ รูปแบบของตัวอักษรที่เกิดขึ้นหลังจากที่ถูกปรับให้เหมาะกับระบบการพิมพ์คือ ตัวอักษรแบบมีหัว แต่ตัวอักษรแบบไม่มีหัวก็ยังคงมีอยู่ แต่ต้องจำไว้ว่า ตัวอักษรไทยมีรายละเอียดเยอะ และไม่ง่ายที่จะเขียน หัวของตัวที่มีขนาดเล็กๆ เส้นที่ลากย้อนขึ้น และรอยหยักที่หัว ทำให้เราเขียนตัวอักษรไทยได้ไม่เร็วมากนัก ตัวอักษรแบบลายมือส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นเส้นโค้งมากกว่าตัวตรง คนไทยทุกวันนี้จึงไม่ค่อยเขียนตัวอักษรแบบมีหัวกันมากนัก เพราะว่าการเขียนตัวอักษรไทยให้เร็วขึ้น ทำให้หัวของตัวอักษรไม่ชิดประกบกัน แต่จะกลายเป็นเส้นโค้งๆ คล้ายกับตัวลายสือไทย ในสมัยสุโขทัย
ตัวอักษรไทยที่เหมาะกับการอ่าน จึงกลายเป็นตัวอักษรแบบมีหัว และตัวที่เหมาะกับการเขียน จึงเป็นตัวอักษรแบบไม่มีหัว ซึ่งคล้ายกับตัวละตินที่มีตัวซ้อนกันสองชั้น อย่างเช่นตัว /a/ และ /g/ ในการเขียนตัวหนังสือ (ซึ่งผมก็เริ่มเห็นการใช้ตัวอักษรแบบไม่มีหัวในฟอนต์ที่เป็นตัวละติน เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นกันเอง ไม่เป็นทางการมากนัก)
มาถึงสมัยนี้ เราไม่ต้องถูกจำกัดด้วยตัวแม่พิมพ์เหล็กหล่อและแท่นพิมพ์อีกต่อไป ใครๆ ก็สามารถสร้างฟอนต์ได้เองทุกที่ แม้กระทั่งในห้องนอน ในขณะที่แบรนด์สินค้าส่วนใหญ่ก็อยากจะทำให้ตัวเองดูเข้าถึงได้ง่าย ดูเป็นมิตร และร่าเริงสนุกสนาน จึงไม่น่าแปลกใจที่การเลือกใช้ฟอนต์ตัวอักษรแบบไม่มีหัว มากกว่าการใช้ฟอนต์ที่ดูเป็นทางการแบบดั้งเดิม จะเป็นเหมือนหนทางที่ถูกเลือกใช้ในงานออกแบบ
ถ้าดูจากประวัติศาสตร์และบริบทประจำถิ่น การที่จะสรุปว่า ตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัว เป็นตัวอักษรแบบเสมือนละติน จึงไม่น่าจะถูกต้องนัก ไม่ใช่แค่เพียงว่า ตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัวมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวละติน แล้วจะเป็นแบบเสมือนตัวละตินเสมอไป ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย
ถ้า Latinisation ไม่ได้เกิดจากการตัดหัวกลมของตัวอักษรไทยออกไป แล้วมันหมายถึงอะไร?
ลองมองย้อนกลับไปที่ตัวอักษรละติน เริ่มต้นจากการที่มี ตัวเอน (italic), ตัวแบบไม่มีเชิง (sans serif) และต่อมาจึงมี ตัวหนา (bold) ซึ่งส่งผลให้โรงพิมพ์ในยุคนั้น มีความหลากหลายในการพิมพ์มากขึ้น ในยุคที่มีการพัฒนาตัวอักษรแบบไม่มีเชิงขึ้นมานั้น คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดเลยว่า มันจะถูกเอาไปใช้งานได้ดีกับหน้าจอแสดงผลดิจิตอลและหัวชื่อนิตยสาร จนกระทั่งมันกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันไปแล้วในปัจจุบัน
สิ่งที่ทำให้ตัวอักษรไทยถูกยกเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ การที่เรารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพยายามคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเป็นต่อไป ตัวอักษรแบบไม่มีหัวจะกลายเป็นการทำให้ตัวอักษรไทยเป็นแบบตัวเสมือนละตินหรือไม่? จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับวิธีที่นักออกแบบตัวอักษรกำหนดรูปแบบตัวอักษรไทย? นักออกแบบตัวอักษรจะสร้างรูปแบบตัวอักษรไทยแบบใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นได้อย่างไร? หรือนักออกแบบตัวอักษรไทยจะสร้างแบบตัวอักษรที่สามารถใช้ร่วมกับตัวละตินได้อย่างกลมกลืนได้หรือไม่? อะไรที่มีผลต่อผู้อ่านภาษาไทย? อะไรที่จะเป็นตัวกำหนดแนวทางให้นักออกแบบตัวอักษรไทยสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ?
เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีข้อสรุป ไม่มีใครรู้ว่า อะไรถูกต้อง หรือว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด แม้แต่ลูกค้าที่จ้างให้ออกแบบฟอนต์ไทยขึ้นมาใหม่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ผู้อ่านภาษาไทยยังไม่ได้เลือกว่าชอบอ่านตัวแบบไหน ในขณะที่สำนักพิมพ์เองก็หันไปนิยมใช้ตัวอักษรแบบไม่มีหัวมากขึ้น นิสัยการอ่านยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยที่ฟอนต์ Neue Frutiger® Thai ของ Linotype เป็นตัวอย่างของตัวอักษรไทยที่มีการออกแบบให้มีทั้งแบบมีหัวและไม่มีหัวให้เลือกใช้ แล้วคอยดูกันว่า นักออกแบบตัวอักษรไทยจะใช้รูปแบบนี้เป็นแนวทางในการออกแบบตัวอักษรไทยในการสร้างตัวอักษรแบบมีหัวและไม่มีหัวที่มีหลากหลายรูปแบบจากพื้นฐานที่เป็นฟอนต์ชุดเดียวกันหรือไม่
ฟอนต์ ฟลูธิเกอร์ ภาษาไทย ที่มีทั้งแบบดั้งเดิม (มีหัว) และแบบสมัยใหม่ (ไม่มีหัว) ออกแบบโดย Adrian Frutiger และ อนุทิน วงศ์สรรคกร
"ตัวอักษรแบบเสมือนตัวละตินมีความหมายต่างกันสำหรับแต่ละคน จึงควรดูที่บริบทประจำถิ่นนั้นด้วยว่ากำลังพูดถึงตัวอักษรในภาษาใด เป็นหลักสำคัญ"
แปลจากบทความเรื่อง On Loops and Latinisation จากเว็บไซต์ fontpad.co.uk โดยคุณ Ben Mitchell เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2014
บทความเรื่องนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของบทความให้เผยแพร่ได้ ลิขสิทธิ์ในเนื้อหาของบทความยังคงเป็นของเจ้าของบทความ
การนำเนื้อหาทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำการเผยแพร่ ต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์
Ben Mitchell เป็นนักออกแบบตัวอักษรฟรีแลนซ์ อาศัยอยู่ที่เมืองไบร์ทตัน ประเทศอังกฤษ เขาจบการศีกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาการออกแแบบตัวอักษร จาก University of Reading ในปี 2012 เขาใช้เวลาศึกษาตัวอักษรภาษาต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง ภาษาไทย ลาว พม่า และเขมร โดยเดินทางไปทั่วทั้งภูมิภาคนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิธีการใช้ภาษาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เขาออกแบบฟอนต์ในภาษาเหล่านี้ให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้ร่วมกับตัวละติน นอกจากนี้เขายังเปิดสอนการออกแบบตัวอักษรให้กับนักศึกษาและนักออกแบบตัวอักษรทั้งในอังกฤษและประเทศไทย รวมถึงการเป็นวิทยากรรับเชิญในงานสัมมนาเกี่ยวกับฟอนต์อีกด้วย ติดตามผลงานของเขาได้ที่เว็บไซต์ The Fontpad