10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
Bradley
ตัวพิมพ์ กับกำเนิดโลกทัศน์ใหม่
Bradley Timeline
  ปฐมบทของการพิมพ์และการออกแบบตัวพิมพ์ของไทยเริ่มขึ้น เมื่อนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือหมอบรัดเล และ มิชชันนารี คณะแบปติสต์ จากสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ เขาได้ก่อตั้งโรงพิมพ์และจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวพิมพ์ภาษาไทย ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ กิจการหนังสือพิมพ์และโรงพิมพ์ของคณะฯ เจริญเติบโตจนเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว มีการออกหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม และสั่งซื้อแท่นพิมพ์เพิ่มขึ้นในปีต่อๆ มา

  นั่นคือช่วงเวลาหลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบอร์นี และสยามประเทศอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ในด้านเทคโนโลยี เทคนิควิทยาการ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ เครื่องจักรไอน้ำ และสิ่งประดิษฐ์นานาชนิด กำลังหลั่งไหลเข้ามา ในด้านความรู้และภูมิปัญญา สังคมไทยกำลังเผชิญกับการท้าทายของแนวคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบกฎหมาย แบบแผนประเพณี ตลอดจนความหมายของชุมชนที่จะเรียกกันว่า ชาติ
แดน บีช แบรดลีย์
นายแพทย์ แดน บีช แบรดลีย์
(Dan Beach Bradley)
  หนังสือและตัวพิมพ์ซึ่งเป็นผลงานของแบรดลีย์คือ ที่รวมของความเปลี่ยนแปลงทั้งสองด้านนั้น ในด้านเทคโนโลยี มันเป็นแบบอย่างของการผลิตซ้ำอย่างกลไกด้วยเครื่องจักร ประสิทธิภาพการพิมพ์ในสมัยนั้น ช่วยย่นย่อระยะเวลาและขจัดข้อผิดพลาดของการทำงานแบบเก่า ซึ่งในที่นี้ก็คือ การคัดลอกด้วยมือ ในด้านความรู้และภูมิปัญญา เนื้อหาของสิ่งพิมพ์อันได้แก่ หนังสือสอนศาสนาคริสต์ ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนภูมิ-ดาราศาสตร์ ได้เข้ามาสั่นคลอนรากฐานความรู้และคติความเชื่อเดิมของสังคมไทย นอกจากนั้น บางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยของเขา ยังได้นำเอาวิธีการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้นเข้ามาด้วย

กำเนิดตัวพิมพ์ไทย : เส้นทางอันยอกย้อน

  กำเนิดตัวพิมพ์ไทยมีความซับซ้อนที่น่าสนใจ ก่อนยุคของแบรดลีย์ การพิมพ์และหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยมีขึ้นแล้ว แต่ทำกันในต่างประเทศ ผลงานยุคแรกสุด เช่น หนังสือ  James Low's Thai Grammar  (ไวยากรณ์ไทย ของ เจมส์ โลว์) ใช้ตัวพิมพ์ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมิชชันนารีสตรีชาวอเมริกันในพม่าชื่อ แนนซี่ ยัดสัน และช่างพิมพ์ที่ชื่อ ยอร์จ เอช ฮัฟ การเรียงตัวและจัดพิมพ์ทำขึ้นที่อินเดียและพม่าใน พ.ศ. ๒๓๗๐ เข้าใจว่าในเวลาต่อมา เมื่อแบรดลีย์เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน ตัวพิมพ์ชุดนี้ก็ถูกนำเข้ามาใช้ในโรงพิมพ์ของเขา
แนนซี่ ยัดสัน
แนนซี่ ยัดสัน หรือ แอน ฮาเซลไทน์ ยัดสัน
(Ann Hasseltine Judson)
  ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ แบรดลีย์รับจ้างราชการไทยจัดพิมพ์เอกสารที่เรียกกันว่า แผ่นประกาศห้ามสูบฝิ่น ขึ้นตามพระราชโองการของรัชกาลที่ ๓ เพื่อแจกจ่ายออกไปทั่วพระราชอาณาจักร เอกสารชิ้นนี้ใช้ตัวเรียงซึ่งซื้อจากสิงคโปร์ เข้าใจว่าคณะมิชชันนารีได้ส่งคนในคณะฯ ไปดูแลการทำแม่แบบที่ปีนัง และนำไปหล่อที่มะละกา

  การหล่อตัวพิมพ์ในประเทศไทยทำสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๘๔ แบบตัวชุดนี้มีความสวยงามกว่า และมีขนาดเล็กกว่าที่เคยสั่งหล่อจากสิงคโปร์ หนึ่งในสิ่งพิมพ์ชิ้นแรกๆ ที่ใช้ตัวเรียงพิมพ์ที่หล่อเป็นครั้งแรกในเมืองไทยคือ หนังสือของแบรดลีย์เอง ชื่อ คำภีร์ ครรภ์ทรักษา แปลย่นความออกจากกำภิร์ครรภ์ทรักษา แห่งแพทย์หมออะเมริกา ส่วนตัวพิมพ์ที่เรียกกันว่า “บรัดเลเหลี่ยม” นั้นเป็นผลงานรุ่นถัดมา ปรากฏการใช้เป็นครั้งแรกใน บางกอกรีคอร์เดอร์ หรือ หนังสือจดหมายเหตุ๚ ซึ่งออกในปี พ.ศ.๒๓๘๗ ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย (ชื่อตัวพิมพ์ดังกล่าวตั้งขึ้นในภายหลังโดย กำธร สถิรกุล ใน ตัวหนังสือและตัวพิมพ์)
คำภีร์ ครรภ์ทรักษา พ.ศ. ๒๓๘๕
คำภีร์ ครรภ์ทรักษา พิมพ์ที่ A. B. C. F. M. Mission Press พ.ศ. ๒๓๘๕ ภาพจาก TK park ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๘๗
๏หนังสือจดหมายเหตุ๚ Bangkok Recorder รายเดือน ฉบับที่ ๑ วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๓๘๗
เดอะบางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๐๘
หลังจากเปลี่ยนเป็นรายปักษ์ มีคำว่า “THE” ด้านหน้า ฉบับที่ ๑ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๐๘

เมื่อตัวพิมพ์ยืดตัวตรง และโครงสร้างถูกจัดระเบียบ

  แบบอักษรของตัวบรัดเลเหลี่ยมนั้น ถ่ายทอดมาจากตัวเขียนลายมืออย่างไม่ต้องสงสัย ตัวเขียนที่แบรดลีย์ใช้เป็น ต้นแบบ สันนิษฐานได้ว่ามาจากลายมือแบบอาลักษณ์ เราอาจพบลายมือคล้ายกันนี้ปรากฏอยู่ในสมุดข่อย ซึ่งเขียนขึ้นในยุคต้นสมัยรัตนโกสินทร์หลายเล่ม

  หากเอาบรัดเลเหลี่ยมมาเปรียบเทียบกับตัวพิมพ์รุ่นก่อนหน้านั้น ก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก บรัดเลเหลี่ยมมีรูปทรงตั้งตรง ตัวรุ่น คำภีร์ ครรภ์ทรักษาฯ ยังเป็นแบบเอนไปข้างหลัง โครงสร้างอักษรของตัวคำภีร์เริ่มชัดเจนแต่ยังไม่ค่อยมีเอกภาพ เช่น เส้นตั้งไม่ได้ขนานกันอย่างสมบูรณ์ ตัว ก ไก่ อ้วนมาก การม้วนของ ห หีบ เป็นเส้นเหลี่ยม หรือถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับรุ่นของยัดสัน จะเห็นว่ารุ่นนั้นถ่ายทอดมาจากลายมือแบบหวัดแกมบรรจง จึงยังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน เช่น มีตัวหนังสือที่โย้หน้าบ้างโย้หลังบ้าง
วิวัฒนาการของตัวพิมพ์ในยุคก่อร่างสร้างตัว
Stacks Image 7885
ไวยากรณ์ไทย ของ เจมส์ โลว์
พ.ศ. ๒๔๗๑
คำภีร์ ครรภ์ทรักษา
พ.ศ. ๒๓๘๕
บางกอก รีคอร์เดอร์
พ.ศ. ๒๓๘๗
  การแกะตัวพิมพ์ เป็นศิลปะอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากการเขียน ถ้าการเขียนหรือจารเป็นงานจิตรกรรม การแกะพั้นช์ แกะแม่ทองแดง และหล่อตัวพิมพ์ ก็เปรียบได้กับงานประติมากรรม ในการถ่ายทอดศิลปะข้ามสื่อนี้ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างบางอย่างของตัวอักษร เพื่อทำให้การแกะง่ายยิ่งขึ้น เช่น ดัดตัวให้ตรง มีเส้นนอนด้านบนซึ่งหักมุมเหลี่ยมเป็นบุคลิกสำคัญ มีรูปทรง และสัดส่วนของอักษรที่แน่นอน เช่น ก ไก่ มีความกว้างยาวเป็นสัดส่วนราว ๒ ต่อ ๓ และมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง

  นอกจากนั้นบรัดเลเหลี่ยมยังมีการปรับปรุงโครงสร้างอื่นๆ เช่น ทำเส้นตั้ง หรือ “ขา” ให้ตั้งฉากกับเส้นนอน กำหนดหัวกลมโปร่งให้มีเอกภาพและตำแหน่งแน่นอน เส้นมีความหนา และการหักมุมเที่ยงตรงแบบเรขาคณิต แลดูเป็นระเบียบเรียบร้อย รูปโฉมของบรัดเลเหลี่ยมไม่ได้เป็นเพียงการแต่งเนื้อแต่งตัวให้แปลกใหม่ทันสมัยมากขึ้น แต่เป็นการสถาปนามาตรฐานใหม่ของอักษรไทย ถือกันว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญให้แก่ตัวพิมพ์ไทย

กำเนิดโรงพิมพ์หลวง

  หนังสือพิมพ์และตัวพิมพ์นำความสนใจมาสู่ชนชั้นผู้นำของสยาม โดยเฉพาะสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ซึ่งในขณะนั้นทรงผนวชและเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ท่านโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในวัด โรงพิมพ์นี้มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำหน้าที่ทุกอย่างในการพิมพ์ และมีผลงานด้านหนังสือเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น พระปาฏิโมกข์ และบทสวดมนต์

  ปี พ.ศ. ๒๓๙๔ หลังจากที่เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “โรงอักษรพิมพการ” และโปรดให้มีฐานะเป็น “โรงพิมพ์หลวง” โรงอักษรพิมพการได้ดำเนินการผลิตหนังสือและเอกสารสำคัญของแผ่นดินหลายฉบับ เช่น ราชกิจจานุเบกษา หรือ หนังสือรวมประกาศข้อบังคับต่างๆ ของราชการ ซึ่งพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๐๑
โรงอักษรพิมพการ
โรงอักษรพิมพการ ที่ตั้งอยู่ใกล้พระที่นั่งภานุมาศจำรูญในพระบรมมหาราชวัง ภาพจากหนังสือ สยามพิมพการ สำนักพิมพ์มติชน
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ แผ่นที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๐๑
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ แผ่นที่ ๑ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๑ ภาพจากหนังสือ แรกมีในสยาม โดย โกสินทร์ รตนประเสริฐ
  ระหว่างที่ทรงดำเนินกิจการโรงพิมพ์ในวัดบวรฯ ด้วยความรอบรู้และเข้าใจในความยากลำบากของการแกะ หล่อและเรียงพิมพ์ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ จึงมีพระราชดำริเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนอักษรไทยเสียใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การพิมพ์ และประดิษฐ์อักษรไทยแบบใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “อักษรอริยกะ”

  วิธีการเขียนแบบนี้ มีจุดเด่นตรงที่อักษรทั้งหมดถูกจับลงมาอยู่บรรทัดเดียวกัน และเรียงสระและวรรณยุกต์ให้อยู่หลังพยัญชนะ เช่นเดียวกับอักษรโรมัน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเลิกใช้รูปอักษรเดิม หันไปใช้รูปทรงและโครงสร้างที่คล้ายอักษรโรมัน อักษรอริยกะถูกสร้างขึ้นเป็นตัวพิมพ์เพื่อใช้ในโรงพิมพ์วัดบวรฯ และพิมพ์เอกสารที่เผยแพร่เฉพาะในหมู่สงฆ์ในนิกายธรรมยุติ
อักษร อริยกะ ประกอบด้วย สระ ๘ ตัว และ พยัญชนะ ๓๓ ตัว (เทียบคำอ่านกับอักษรไทย)
Stacks Image 7924

บั้นปลายของหนังสือพิมพ์รุ่นบุกเบิก

  แม้ว่าชนชั้นสูงของสยามจะรู้สึกหวาดระแวงต่อเนื้อหาและการแจกจ่ายหนังสือ "นอกศาสนา" ของแบรดลีย์ แต่ความแปลกใหม่และมีประโยชน์ของการพิมพ์ทำให้การสอนศาสนาและการดำเนินธุรกิจของเขาเป็นที่ยอมรับ ผลงานด้านหนังสือพิมพ์ ความรู้ หนังสือแปล และตำราเรียนของเขาแพร่หลายออกไปทีละน้อย หลังจากนั้นโรงพิมพ์อื่นๆ ก็เกิดขึ้นตามมา เช่น โรงพิมพ์ของมิชชันนารีอีกคนหนึ่งที่ชื่อ แซมมวล จอห์น สมิท หรือ ครูสมิท

  พ.ศ. ๒๔๐๔ แบรดลีย์ได้พิมพ์ นิราษ เมือง ลอนดอน  ของหม่อมราโชทัย (กระต่าย) ซึ่งปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราว เนื่องจากเป็นหนังสือภาษาไทยเล่มแรกที่มีการซื้อลิขสิทธิ์กันอย่างเป็นทางการ (เป็นจำนวนเงิน ๔๐๐ บาท) หนังสือเล่มนี้มีการใช้ตัวพิมพ์แบบใหม่คือ “บรัดเลโค้ง” เป็นครั้งแรก ชุดนี้มีถึง ๒ ขนาด ขนาดใหญ่ใช้เรียงเป็นชื่อหนังสือในหน้าแรกๆ ส่วนใน บางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งออกในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ จะใช้ บรัดเลโค้ง เป็นตัวพาดหัว
นิราษ เมือง ลอนดอน ของ หม่อมราโชทัย พ.ศ. ๒๔๐๔
นิราษ เมือง ลอนดอน ของ หม่อมราโชทัย (กระต่าย) พ.ศ. ๒๔๐๔ ภาพจาก HathiTrust Digital Library
  กิจการโรงพิมพ์ของแบรดลีย์เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ แต่การทำหนังสือพิมพ์ของเขายุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ด้วยเหตุว่าถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท แบรดลีย์เชื่อว่า การที่ตนเองแพ้คดีนี้เพราะเขาถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากชนชั้นสูงชาวสยามเริ่มไม่พอใจกับการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของเขา

  ตัวพิมพ์นั้น หากถือว่าเป็นพัฒนาการในยุคแรกเริ่ม ก็นับว่าเป็นไปอย่างช้าๆ ตราบจนสิ้นรัชกาลที่ ๔ เรามีตัวพิมพ์อยู่ ๓-๔ แบบ ผลงานออกแบบตัวพิมพ์ของแบรดลีย์กลายเป็นรากฐานการออกแบบในยุคต่อไป ตัวพิมพ์ไทยในรุ่นหลังเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่วิวัฒนาการมาจากตัวพิมพ์ที่ท่านได้วางเอาไว้ทั้งสิ้น

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค บรัดเล

Stacks Image 7947
ดีบี บรัดเลย์เหลี่ยม (DB Bradley Angular X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7954
ดีบี บรัดเลย์โค้ง (DB Bradley Curved X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
2019 | Thaifaces.com |
10,381