10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
Close
DB Erawan

ตัวพิมพ์ กับเศรษฐกิจยุคฟองสบู่

DB Erawan Timeline
  มักมีการกล่าวเปรียบเทียบว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล เป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ พอๆ กับการคิดค้นระบบตัวพิมพ์ของกูเทนแบร์ก เทคโนโลยีนี้ได้ส่งผลสะเทือนอย่างมหาศาลให้แก่โลกของตัวพิมพ์ นับตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงหลักวิชาและศิลปะในการใช้ตัวพิมพ์

ตัวพิมพ์กับเศรษฐกิจฟองสบู่

  ระบบดิจิตอลได้เข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีดดังที่เรียกอย่างลำลองว่า ยุคฟองสบู่ เทคโนโลยีดังกล่าว จึงเข้ามาสนองความต้องการที่เกิดจากการขยายตัวอย่างฉับพลันของเศรษฐกิจภาคบริการในด้านการใช้สิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อธุรกิจ โฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการกระจายข้อมูลข่าวสาร ผลกระทบต่อตัวพิมพ์จึงยิ่งรุนแรงเป็นเท่าทวี

  ในที่นี้ เราอาจยกกรณีที่ตัวพิมพ์ในยุคนี้ถูกเรียว่า “ฟอนต์” มาเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่า การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลนั้นมีผลกระทบต่อตัวพิมพ์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุด นั่นคือ เข้าไปเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวพิมพ์

  อันที่จริง ฟอนต์ (font) เป็นคำเก่าที่ใช้เรียกชุดของตัวตะกั่วที่ประกอบด้วยอักษร อันได้แก่ พยัญชนะ สระ ตัวเลข และเครื่องหมายพิเศษครบทั้งชุด ที่สำคัญคือ มีขนาดที่แน่นอน อย่างเช่น ฝรั่งเศสขนาด ๑๒ พอยต์ กับ ฝรั่งเศสขนาด ๑๙ พอยต์ ถือว่าเป็นคนละฟอนต์กัน แต่ในยุคตัวดิจิตอล ฟอนต์ หมายถึงข้อมูลที่เกิดจากการถ่ายทอดแบบตัวพิมพ์แต่ละแบบแล้วบันทึกไว้ในรูปของชุดคำสั่ง

  ดังนั้น คำว่า “ฟอนต์” จึงถูกนำมาใช้ปะปนกับแบบตัวอักษร (typeface) จริงอยู่ ฟอนต์หมายถึงแบบตัวพิมพ์ที่อยู่ในรูปดิจิตอล แต่การมีฟอนต์หนึ่งฟอนต์ นอกจากหมายถึงการมีอักษรครบชุดแล้ว ยังหมายถึงการมีตัวพิมพ์หลายขนาดพร้อมกันด้วย และที่สำคัญกว่านั้นคือ ฟอนต์จะต้องประกอบด้วยชุดคำสั่งที่ทำให้การแปรรูป เปลี่ยนขนาด และแสดงผลทางหน้าจอของตัวพิมพ์เป็นไปได้ นอกจากนั้น ยังสามารถเรียกตัวพิมพ์ให้มาทำงานร่วมกับโปรแกรมและระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้ด้วย

  ฟอนต์บางชนิดอย่างเช่นของ อะโดบี เขียนด้วยภาษาโพสต์สคริปต์ แบบตัวพิมพ์ถูกบันทึกไว้ในรูปของเส้นเอาต์ไลน์ และประมวลผลด้วยค่าของจุดตัดและเวกเตอร์ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน

เมื่อตัวพิมพ์หลุดจากข้อจำกัดทางกายภาพ

  เทคโนโลยีแบบดิจิตอลได้ปลดปล่อยตัวพิมพ์ออกจากข้อจำกัดด้านการผลิต การออกแบบและสร้างตัวพิมพ์กลายเป็นของง่าย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะหรือเงินทุนสูง อาศัยแค่เพียงคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง กับ โปรแกรมที่มีชื่อว่า Fontographer นักออกแบบหรือบุคคลทั่วไปก็สามารถเนรมิตตัวพิมพ์แบบใดก็ได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง

  ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากตัวพิมพ์ในยุคดิจิตอลไม่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องมือ จึงถือได้ว่าเป็นการปลดปล่อยตัวพิมพ์จากข้อจำกัดด้านรูปลักษณ์ การดัดแปลงรูปทรงให้แปลกตารวมทั้งการผสมผสานแบบและสไตล์ต่างๆ เข้าด้วยกัน กลายเป็นเรื่องง่ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

  คุณภาพและความสวยงามของตัวพิมพ์ กลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง หรืออีกนัยหนึ่ง นักออกแบบทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นสามารถควบคุมกระบวนการผลิตตัวพิมพ์ทั้งกระบวนการได้โดยลำพัง สิ่งที่เกิดตามมาคือ การเบ่งบานของรูปแบบตัวพิมพ์ มีแบบตัวพิมพ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็นพัฒนาการจากแบบเก่าและผลของการบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ

  ตัวพิมพ์ดิจิตอลเริ่มขึ้นเมื่อ แมคอินทอช คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ของบริษัท แอปเปิลคอมพิวเตอร์ ถูกนำเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ บริษัท สหวิริยา โอเอ ผู้แทนจำหน่ายแมคอินทอชในสมัยนั้น ได้เล็งเห็นว่า สินค้าตัวนี้เหมาะที่จะบุกเข้าไปในตลาดสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะ และด้วยเหตุนี้จึงได้บุกเบิกการสร้างตัวพิมพ์แบบโพสต์สคริปต์ชุดแรก

   อย่างไรก็ตาม กว่าที่ตัวพิมพ์แบบดิจิตอลจะเริ่มต้นขึ้นจริงๆ ก็เมื่อ บริษัท เดียร์บุ๊ค ได้สร้างตัวชุด ดีบี ชุดแรกขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นอกจากจะสวยงามและหลากหลายไปด้วยแบบใหม่ๆ ถึงกว่า ๒๐ แบบแล้ว ดีบี ยังมีการปรับปรุงเทคโนโลยีและกำหนดมาตรฐานใหม่ในการสร้างตัวพิมพ์ด้วย เช่น วิธีการวัดขนาด

  จุดเด่นของดีบี คือ เป็นตัวพิมพ์ที่เกิดจากนักออกแบบกราฟิกดีไซน์มืออาชีพ ซึ่งได้แก่ สุรพล เวสารัชเวศย์ และ ปริญญา โรจน์อารยานนท์ แห่ง บริษัท เดียร์บุ๊ค นอกเหนือจากมีความรอบรู้เรื่องตัวพิมพ์และเทคโนโลยีการพิมพ์แล้ว เขายังเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ตัวพิมพ์เป็นอย่างดี

  โครงการสร้างตัวพิมพ์ดิจิตอลของเดียร์บุ๊คสำเร็จลงในเวลาเพียงหนึ่งปี ตัวพิมพ์ชุดแรกออกมาในช่วงเวลาที่ตรงกับความต้องการของท้องตลาดพอดี ตัวพิมพ์หลายแบบ เช่น “ดีบี นารายณ์” “ดีบี ฟองน้ำ” และ “ดีบี ไทยเท็กซ์” จึงเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ส่วนตัวดิสเพลย์แบบใหม่ๆ เช่น “ดีบี เอราวัณ” ก็เช่นกัน ทั้งหมดนี้ผลักดันให้ดีบีทั้งชุดกลายเป็นฟอนต์ยอดนิยมในเวลาอันสั้น

  การที่ระบบดิจิตอลก้าวเข้ามาแทนที่ระบบโฟโต้ฯ ได้นั้น นอกจากอาศัยระบบเดสก์ทอปพับลิชชิงและซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เป็นจุดแข็งแล้ว ตัวพิมพ์แบบใหม่ๆ ก็เป็นแรงเสริมที่ทำให้ระบบนี้เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วด้วย

  อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ทางการตลาดยังไม่อนุโลมให้ตัวพิมพ์เป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ สิ่งที่ผู้ผลิตตัวพิมพ์สามารถทำได้ในช่วงนี้คือ ใช้ตัวพิมพ์เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าที่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์มาใช้บริการการพิมพ์งานออกมาด้วยพรินเตอร์แบบ Imagesetter ที่มีความละเอียดสูง

  แบบที่เด่นที่สุดในชุดดีบี คือ ดีบี เอราวัณ ซึ่งคล้ายคลึงกับ Futura Extra Bold ของอักษรโรมัน ถือเป็นตัวพิมพ์ที่มีความหนาและน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา

  ส่วน ดีบี นารายณ์ เป็นการนำเอาตัวฝรั่งเศส หรือ ฝ.ศ. มาปรับปรุงให้มีเส้นที่หนาขึ้นและพร้อมจะเป็นตัวดิสเพลย์ได้มากขึ้น ส่วน ดีบี ฟองน้ำ เป็นการพัฒนารูปทรงไปในแนวทางเดียวกันกับของ อีเอซี ทอมไลท์ คือ กำหนดให้มีเส้นและรูปทรงที่เป็นแบบเรขาคณิตมากขึ้น

  ในช่วงต้นของระบบดิจิตอล ตัวพิมพ์ชุดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่น ชุดที่แกะมาจากตัวโฟโต้ไทป์เซตติ้งทั้งชุดเป็นผลงานของ อีเอซี คอมพิวกราฟิก, ชุด “ศิริชนะ” ออกแบบโดย วันชัย ศิริชนะ เป็นผลงานของ บริษัท โวตร้า ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของไลโนโทรนิกส์ และชุด “พี.เอส.แอล.” เป็นผลงานของ บริษัท พี.เอส.แอล. สมาร์ทเลตเตอร์

  ในช่วงเดียวกัน ตัวพิมพ์แบบดิสเพลย์หรือตัวประดิษฐ์ก็ถูกสร้างขึ้นมาอีกมากมาย ตัวพิมพ์หลายๆ ชุดที่เป็นของ บริษัท เจเอส เทคโนโลยี ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เอาชื่อตัวละครหรือดารายอดนิยมสมัยนั้นมาตั้งเป็นชื่อแบบตัวพิมพ์ เช่น เรียกตัวพาดหัวของ ไทยรัฐ  ว่า “โกโบริ”

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค เอราวัณ

Stacks Image 7924
ดีบี เอราวัณ (DB Erawan X) ๒ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7926
ดีบี นารายณ์ (DB Narai X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7928
ดีบี ฟองน้ำ (DB FongNam X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7932
ศิริชนะ (Sirichana) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ ออกแบบโดย วันชัย ศิริชนะ
Stacks Image 7934
โกโบริ (JS Kobori Allcaps) ออกแบบโดย ภาณุฑัต เตชะเสน
2019 | Thaifaces.com |
8,456