10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
DB Erawan

ตัวพิมพ์ กับเศรษฐกิจยุคฟองสบู่

DB Erawan Timeline
  มักมีการกล่าวเปรียบเทียบว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล เป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ พอๆ กับการคิดค้นระบบตัวพิมพ์ของกูเทนแบร์ก เทคโนโลยีนี้ได้ส่งผลสะเทือนอย่างมหาศาลให้แก่โลกของตัวพิมพ์ นับตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงหลักวิชาและศิลปะในการใช้ตัวพิมพ์

ตัวพิมพ์กับเศรษฐกิจฟองสบู่

  ระบบดิจิตอลได้เข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีดดังที่เรียกอย่างลำลองว่า ยุคฟองสบู่ เทคโนโลยีดังกล่าว จึงเข้ามาสนองความต้องการที่เกิดจากการขยายตัวอย่างฉับพลันของเศรษฐกิจภาคบริการในด้านการใช้สิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อธุรกิจ โฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการกระจายข้อมูลข่าวสาร ผลกระทบต่อตัวพิมพ์จึงยิ่งรุนแรงเป็นเท่าทวี

  ในที่นี้ เราอาจยกกรณีที่ตัวพิมพ์ในยุคนี้ถูกเรียว่า “ฟอนต์” มาเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่า การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลนั้นมีผลกระทบต่อตัวพิมพ์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุด นั่นคือ เข้าไปเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวพิมพ์

  อันที่จริง ฟอนต์ (font) เป็นคำเก่าที่ใช้เรียกชุดของตัวตะกั่วที่ประกอบด้วยอักษร อันได้แก่ พยัญชนะ สระ ตัวเลข และเครื่องหมายพิเศษครบทั้งชุด ที่สำคัญคือ มีขนาดที่แน่นอน อย่างเช่น ฝรั่งเศสขนาด ๑๒ พอยต์ กับ ฝรั่งเศสขนาด ๑๙ พอยต์ ถือว่าเป็นคนละฟอนต์กัน แต่ในยุคตัวดิจิตอล ฟอนต์ หมายถึงข้อมูลที่เกิดจากการถ่ายทอดแบบตัวพิมพ์แต่ละแบบแล้วบันทึกไว้ในรูปของชุดคำสั่ง

  ดังนั้น คำว่า “ฟอนต์” จึงถูกนำมาใช้ปะปนกับแบบตัวอักษร (typeface) จริงอยู่ ฟอนต์หมายถึงแบบตัวพิมพ์ที่อยู่ในรูปดิจิตอล แต่การมีฟอนต์หนึ่งฟอนต์ นอกจากหมายถึงการมีอักษรครบชุดแล้ว ยังหมายถึงการมีตัวพิมพ์หลายขนาดพร้อมกันด้วย และที่สำคัญกว่านั้นคือ ฟอนต์จะต้องประกอบด้วยชุดคำสั่งที่ทำให้การแปรรูป เปลี่ยนขนาด และแสดงผลทางหน้าจอของตัวพิมพ์เป็นไปได้ นอกจากนั้น ยังสามารถเรียกตัวพิมพ์ให้มาทำงานร่วมกับโปรแกรมและระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้ด้วย

  ฟอนต์บางชนิดอย่างเช่นของ อะโดบี เขียนด้วยภาษาโพสต์สคริปต์ แบบตัวพิมพ์ถูกบันทึกไว้ในรูปของเส้นเอาต์ไลน์ และประมวลผลด้วยค่าของจุดตัดและเวกเตอร์ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน

เมื่อตัวพิมพ์หลุดจากข้อจำกัดทางกายภาพ

  เทคโนโลยีแบบดิจิตอลได้ปลดปล่อยตัวพิมพ์ออกจากข้อจำกัดด้านการผลิต การออกแบบและสร้างตัวพิมพ์กลายเป็นของง่าย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะหรือเงินทุนสูง อาศัยแค่เพียงคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง กับ โปรแกรมที่มีชื่อว่า Fontographer นักออกแบบหรือบุคคลทั่วไปก็สามารถเนรมิตตัวพิมพ์แบบใดก็ได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง

  ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากตัวพิมพ์ในยุคดิจิตอลไม่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องมือ จึงถือได้ว่าเป็นการปลดปล่อยตัวพิมพ์จากข้อจำกัดด้านรูปลักษณ์ การดัดแปลงรูปทรงให้แปลกตารวมทั้งการผสมผสานแบบและสไตล์ต่างๆ เข้าด้วยกัน กลายเป็นเรื่องง่ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

  คุณภาพและความสวยงามของตัวพิมพ์ กลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง หรืออีกนัยหนึ่ง นักออกแบบทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นสามารถควบคุมกระบวนการผลิตตัวพิมพ์ทั้งกระบวนการได้โดยลำพัง สิ่งที่เกิดตามมาคือ การเบ่งบานของรูปแบบตัวพิมพ์ มีแบบตัวพิมพ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็นพัฒนาการจากแบบเก่าและผลของการบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ

  ตัวพิมพ์ดิจิตอลเริ่มขึ้นเมื่อ แมคอินทอช คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ของบริษัท แอปเปิลคอมพิวเตอร์ ถูกนำเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ บริษัท สหวิริยา โอเอ ผู้แทนจำหน่ายแมคอินทอชในสมัยนั้น ได้เล็งเห็นว่า สินค้าตัวนี้เหมาะที่จะบุกเข้าไปในตลาดสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะ และด้วยเหตุนี้จึงได้บุกเบิกการสร้างตัวพิมพ์แบบโพสต์สคริปต์ชุดแรก

   อย่างไรก็ตาม กว่าที่ตัวพิมพ์แบบดิจิตอลจะเริ่มต้นขึ้นจริงๆ ก็เมื่อ บริษัท เดียร์บุ๊ค ได้สร้างตัวชุด ดีบี ชุดแรกขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นอกจากจะสวยงามและหลากหลายไปด้วยแบบใหม่ๆ ถึงกว่า ๒๐ แบบแล้ว ดีบี ยังมีการปรับปรุงเทคโนโลยีและกำหนดมาตรฐานใหม่ในการสร้างตัวพิมพ์ด้วย เช่น วิธีการวัดขนาด

  จุดเด่นของดีบี คือ เป็นตัวพิมพ์ที่เกิดจากนักออกแบบกราฟิกดีไซน์มืออาชีพ ซึ่งได้แก่ สุรพล เวสารัชเวศย์ และ ปริญญา โรจน์อารยานนท์ แห่ง บริษัท เดียร์บุ๊ค นอกเหนือจากมีความรอบรู้เรื่องตัวพิมพ์และเทคโนโลยีการพิมพ์แล้ว เขายังเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ตัวพิมพ์เป็นอย่างดี

  โครงการสร้างตัวพิมพ์ดิจิตอลของเดียร์บุ๊คสำเร็จลงในเวลาเพียงหนึ่งปี ตัวพิมพ์ชุดแรกออกมาในช่วงเวลาที่ตรงกับความต้องการของท้องตลาดพอดี ตัวพิมพ์หลายแบบ เช่น “ดีบี นารายณ์” “ดีบี ฟองน้ำ” และ “ดีบี ไทยเท็กซ์” จึงเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ส่วนตัวดิสเพลย์แบบใหม่ๆ เช่น “ดีบี เอราวัณ” ก็เช่นกัน ทั้งหมดนี้ผลักดันให้ดีบีทั้งชุดกลายเป็นฟอนต์ยอดนิยมในเวลาอันสั้น

  การที่ระบบดิจิตอลก้าวเข้ามาแทนที่ระบบโฟโต้ฯ ได้นั้น นอกจากอาศัยระบบเดสก์ทอปพับลิชชิงและซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เป็นจุดแข็งแล้ว ตัวพิมพ์แบบใหม่ๆ ก็เป็นแรงเสริมที่ทำให้ระบบนี้เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วด้วย

  อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ทางการตลาดยังไม่อนุโลมให้ตัวพิมพ์เป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ สิ่งที่ผู้ผลิตตัวพิมพ์สามารถทำได้ในช่วงนี้คือ ใช้ตัวพิมพ์เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าที่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์มาใช้บริการการพิมพ์งานออกมาด้วยพรินเตอร์แบบ Imagesetter ที่มีความละเอียดสูง

  แบบที่เด่นที่สุดในชุดดีบี คือ ดีบี เอราวัณ ซึ่งคล้ายคลึงกับ Futura Extra Bold ของอักษรโรมัน ถือเป็นตัวพิมพ์ที่มีความหนาและน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา

  ส่วน ดีบี นารายณ์ เป็นการนำเอาตัวฝรั่งเศส หรือ ฝ.ศ. มาปรับปรุงให้มีเส้นที่หนาขึ้นและพร้อมจะเป็นตัวดิสเพลย์ได้มากขึ้น ส่วน ดีบี ฟองน้ำ เป็นการพัฒนารูปทรงไปในแนวทางเดียวกันกับของ อีเอซี ทอมไลท์ คือ กำหนดให้มีเส้นและรูปทรงที่เป็นแบบเรขาคณิตมากขึ้น

  ในช่วงต้นของระบบดิจิตอล ตัวพิมพ์ชุดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่น ชุดที่แกะมาจากตัวโฟโต้ไทป์เซตติ้งทั้งชุดเป็นผลงานของ อีเอซี คอมพิวกราฟิก, ชุด “ศิริชนะ” ออกแบบโดย วันชัย ศิริชนะ เป็นผลงานของ บริษัท โวตร้า ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของไลโนโทรนิกส์ และชุด “พี.เอส.แอล.” เป็นผลงานของ บริษัท พี.เอส.แอล. สมาร์ทเลตเตอร์

  ในช่วงเดียวกัน ตัวพิมพ์แบบดิสเพลย์หรือตัวประดิษฐ์ก็ถูกสร้างขึ้นมาอีกมากมาย ตัวพิมพ์หลายๆ ชุดที่เป็นของ บริษัท เจเอส เทคโนโลยี ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เอาชื่อตัวละครหรือดารายอดนิยมสมัยนั้นมาตั้งเป็นชื่อแบบตัวพิมพ์ เช่น เรียกตัวพาดหัวของ ไทยรัฐ  ว่า “โกโบริ”

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค เอราวัณ

Stacks Image 7924
ดีบี เอราวัณ (DB Erawan X) ๒ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7926
ดีบี นารายณ์ (DB Narai X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7928
ดีบี ฟองน้ำ (DB FongNam X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7932
ศิริชนะ (Sirichana) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ ออกแบบโดย วันชัย ศิริชนะ
Stacks Image 7934
โกโบริ (JS Kobori Allcaps) ออกแบบโดย ภาณุฑัต เตชะเสน
2019 | Thaifaces.com |
6,762