10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
Monotype

ตัวพิมพ์ กับอุตสาหกรรมการพิมพ์ยุคพัฒนา

Monotype Timeline
  หลังจากที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และดำเนินนโยบายร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ในการทำสงครามเย็นกับค่ายคอมมิวนิสต์ ความช่วยเหลือจากมหามิตรดังกล่าวก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ไทยทั้งในรูปของเงินทุนเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ “ยุคพัฒนา” อันหมายถึง การเร่งรัดเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัวตามกระแสทุนนิยมโลก

  นอกจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลไทยยังมีนโยบายกระตุ้นให้เอกชน รวมทั้งบริษัทต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ จากคำขวัญของคณะรัฐบาลที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” กระตุ้นให้คนไทยทุกหย่อมหญ้าใฝ่ฝันถึง “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการก่อสร้างถนน ทางหลวงแผ่นดิน เขื่อน และโรงไฟฟ้าต่างๆ มากมาย

การพัฒนาตัวพิมพ์โดยโรงพิมพ์ใหญ่

  ในยุคนี้ ความเจริญเติบโตของการพิมพ์ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เป้าหมายในเวลานั้นก็คือ การผลิตสร้างงานพิมพ์ให้มีมาตรฐานด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อสนองการขยายตัวของตลาดภายในและมุ่งหน้าสู่การผลิตเพื่อการ “ส่งออก” ในระยะต่อไป

  ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีตัวพิมพ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ การสร้างตัวพิมพ์ชุด “โมโนไทป์” ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๕ โดยบริษัท ไทยวัฒนาพานิช ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์หนึ่งที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกับบริษัทโมโนไทป์ แห่งประเทศอังกฤษ ทำการปรับปรุงรูปแบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อใช้กับเครื่องเรียงพิมพ์อัตโนมัติ

  ระบบโมโนไทป์เป็นการยกเลิกวิธีเรียงพิมพ์ด้วยฝีมือมนุษย์ หันไปใช้การเรียงอักษรด้วยแป้นคีย์บอร์ด เมื่อผู้บังคับแป้นคีย์บอร์ดใส่ข้อความลงไปจนครบ เครื่องเรียงจะดำเนินการเรียงพิมพ์ออกมาทีละหน้าเองอย่างอัตโนมัติ โดยที่การเรียงพิมพ์แต่ละครั้งจะมีการหล่อและเรียงตัวพิมพ์ขึ้นมาใหม่เสมอ โจทย์สำคัญสำหรับผู้สร้างแบบตัวพิมพ์โมโนไทป์คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ตัวขนาดเล็ก ประหยัดเนื้อที่ แต่ยังอ่านได้สะดวก โจทย์นี้สะท้อนถึงสภาวะของวงการพิมพ์ที่กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมและเงื่อนไขของการพิมพ์หนังสือที่มียอดพิมพ์สูงกว่าแต่ก่อน

  ตัว “โมโนไทป์” เป็นผลงานของ พีระ ต. สุวรรณ ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตของไทยวัฒนาพานิช เขาสำเร็จการศึกษาวิชาการพิมพ์จาก Liverpool College of Printing ในอังกฤษ พีระมีส่วนในการออกแบบและดูแลการจัดทำตัวพิมพ์ชุดนี้กับเครื่องโมโนไทป์อย่างใกล้ชิด นอกจากจะปรับปรุงการหล่อให้สะดวกรวดเร็วและมีคุณภาพดีขึ้นแล้ว ยังได้พยายามปรับปรุงตัวพิมพ์ชุดใหม่ให้สวยงามขึ้นด้วย

  ตัวโมโนไทป์มีหลายแบบ บางแบบให้เส้นที่บางกว่าตัวตะกั่วแบบอื่นๆ นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงด้านอื่นๆ ด้วยคือ บีบสระบนและวรรณยุกต์ให้เล็กและวางต่ำลง ทั้งนี้เพื่อประหยัดเนื้อที่ ตัวธรรมดาถูกย่อเล็กลงเหลือราว ๑๖ พอยต์ โดยที่ยังคงความสวยงามและอ่านง่ายไว้ได้ ในยุคก่อนหน้านี้ การออกแบบตัวพิมพ์มีข้อจำกัดอันเกิดจากการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรส เช่น บางมากก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ตัวขาด หนามากก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ตัวบวม การที่โมโนไทป์กล้าสร้างเส้นที่บางลงได้นั้น เพราะตัวพิมพ์โมโนไทป์เกิดจากการหล่อใหม่ทุกครั้ง จึงกำจัดปัญหาตัวพิมพ์ขาดได้อย่างสิ้นเชิง

  ตัวที่เด่นที่สุดของชุดโมโนไทป์ เรียกชื่อตามระดับความหนาของเส้นว่า “ตัวกลาง” ซึ่งกลายเป็นที่นิยมและก้าวเข้ามาแทนที่ตัวธรรมดาแบบเก่า เส้นของตัวพิมพ์นี้จะมีความสม่ำเสมอกันตลอด ปลายเส้นตัดตรง รวมทั้งมีความสูงตัวพิมพ์ หรือ x-height มากกว่าเดิม จุดเด่นคือไม่หักง่ายเหมือนตัวธรรมดาแบบเก่า อีกทั้งยังอ่านง่ายขึ้นด้วย

  “โมโนไทป์กลาง” เป็นตัวพิมพ์ที่หยิบเอาข้อดีของตัวบรัดเลและตัวฝรั่งเศสมารวมกัน จะเห็นได้จากการใช้เส้นที่หนาสม่ำเสมอแบบบรัดเล และการดึง “หัวกลาง” ให้ลงมาข้างล่างมากขึ้นเช่นเดียวกับฝรั่งเศส นอกจากนั้นมีการออกแบบตัว จ จาน ให้มีเส้นแนวดิ่งสองเส้น และสร้างเส้นฐานโค้งมน เพื่อถ่วงน้ำหนักมาข้างหลังและไม่ให้หัวคะมำไปข้างหน้าจนเกินไป ซึ่งก็เป็นลักษณะเด่นที่ดึงมาจากฝรั่งเศสอีกเช่นกัน

  ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ศูนย์พัฒนาหนังสือโตเกียว (Tokyo Book Development Center) ด้วยความร่วมมือกับทาง ยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้ทุนเพื่อทำการพัฒนาตัวพิมพ์ของประเทศที่ไม่ใช้ตัวอักษรโรมัน จึงได้มอบทุนให้ทางกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการออกแบบพัฒนาตัวพิมพ์อักษรไทยที่มีชื่อชุดว่า “ยูเนสโก” ขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตัว โมโนไทป์กลาง นั่นคือ มีเส้นที่หนาเท่ากันเกือบตลอด กริดหรือระเบียบที่เข้มงวดถูกนำมาใช้ในการกำหนดสัดส่วน เหลี่ยมและคมที่ไม่จำเป็นถูกขัดเกลาจนเรียบราบดูเนียนตา ตัวพิมพ์ชุดนี้เป็นผลงานการออกแบบของ มานิต กรินพงศ์ อีกทั้งยังมีความหนาหรือน้ำหนักที่ต่างกันถึงสองระดับ

  อีกตัวหนึ่งซึ่งน่ากล่าวถึงในที่นี้คือตัว “คุรุสภา” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน คือระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๕ คุรุสภาเป็นตัวพิมพ์ในระบบเรียงพิมพ์ด้วยแสงแบบหนึ่งซึ่งชื่อว่า Photo-Composing Machine ระบบนี้มีแม่แบบเป็นตัวอักษรบนแผ่นกระจกเนกาตีฟ ใช้ถ่ายภาพตัวอักษรทีละตัวลงบนฟิล์มไวแสง เรียงติดต่อกันไป จากคำจนเป็นหน้า แล้วจึงนำแผ่นกระดาษไวแสงนั้นไปล้างและทำเป็นแม่พิมพ์ออฟเซท

  การถ่ายตัวแบบนี้ใช้วิธีย่อขยายจากแบบเดียวกัน จึงมีหลายขนาดตั้งแต่ ๘–๖๒ พอยต์ ระบบนี้เป็นผลงานร่วมกันระหว่างองค์การค้าของคุรุสภากับบริษัท Shaken ของญี่ปุ่น ตัวพิมพ์คุรุสภามีลักษณะที่คล้ายกับตัวกลางและยูเนสโกตรงที่มีเส้นที่หนาสม่ำเสมอกัน คอนทราสท์หรือความแตกต่างระหว่างเส้นตั้งกับเส้นนอนไม่มาก เส้นนอนด้านบนโค้งมน และเส้นนอนด้านล่างตรง
Stacks Image 7934
ตัวพิมพ์ในระบบเรียงพิมพ์ด้วยแสง ขนาด 8 ถึง 62 พอยต์ ภาพจากหนังสือ ตัวหนังสือและตัวพิมพ์ โดย กำธร สถิรกุล

โมโนไทป์ กับยุคปลายของตัวตะกั่ว

  อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นตัวพิมพ์ที่มีคุณภาพและสวยงามกว่าตัวพิมพ์ของโรงหล่ออื่นๆ แต่โมโนไทป์เป็นเทคนิคที่มีราคาแพง การใช้จึงอยู่ในวงจำกัด ตัว “ยูเนสโก” และตัว “คุรุสภา” ซึ่งปรากฏขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ประสบภาวะคล้ายกันคือ ไม่แพร่หลาย และกลายเป็นตัวพิมพ์ที่ใช้กันเฉพาะในกลุ่มโรงพิมพ์ของทางราชการ

  ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโมโนไทป์เข้ามาสู่เมืองไทย ก็พอดีกับที่การพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสก้าวมาถึงจุดอิ่มตัว ทุกคนในวงการกำลังพูดถึงการพิมพ์ระบบลิโธออฟเซตซึ่งจะมาแทนที่ระบบเก่า ระบบออฟเซต หมายถึง การพิมพ์ที่ไม่ใช้แรงกดระหว่างแท่นพิมพ์ ตัวพิมพ์ กับกระดาษ แต่ใช้คุณสมบัติทางเคมีของหมึกและน้ำมาทำให้เกิดภาพและตัวอักษรบนกระดาษ ระบบนี้เหนือกว่าเลตเตอร์เพรสทั้งในด้านคุณภาพงานและความเร็วในการพิมพ์

  ที่สำคัญก็คือ การพิมพ์ระบบนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวตะกั่ว เพราะต้องการเพียงถ่ายทอดตัวอักษรลงบนแบบ หรืออาร์ตเวิร์ก แล้วนำไปถ่ายลงบนแม่พิมพ์ซึ่งเป็นเพลตสังกะสีบางๆ นั่นหมายความว่า การสร้างตัวพิมพ์อาจหันไปใช้วิธีอื่น เช่น อักษรลอกก็ได้ การก้าวเข้ามาของออฟเซตจึงเป็นสัญญาณว่า ชีวิตของตัวตะกั่วใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดลงแล้ว

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค โมโนไทป์

Stacks Image 7963
อีเอซี ยูเนสโก (EAC Unesco) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย อี๊สต์เอเชียติ๊ก
Stacks Image 7965
อีเอซี พิมาย (EAC Pemai) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย อี๊สต์เอเชียติ๊ก
Stacks Image 7967
บราววาเลีย (Browallia) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ยูนิตี้ โพรเกรส
Stacks Image 7969
ดีบี ไทยเท็กซ์ (DB ThaiText X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7971
อดิเรก (DS AdiRek) โดย ดุสิต สุภาสวัสดิ์
Stacks Image 7973
พิมาย (TF Pimai) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์
2019 | Thaifaces.com |
5,545