10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
National Fonts

ตัวพิมพ์ดิจิตอล กับสภาวะลอยตัว

National Fonts Timeline
  เมื่อหันมามองดูสภาพของตัวพิมพ์ในปัจจุบันนี้ เราจะพบว่า ปัจจัยด้านเทคโนโลยีอันได้แก่การหันมาสู่ระบบดิจิตอล ได้ส่งผลกระทบต่อตัวพิมพ์มากที่สุด กล่าวคือ มันได้เอื้อให้การออกแบบตัวพิมพ์กลายเป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดาย การสร้างตัวพิมพ์แบบใหม่ รวมทั้งการชุบชีวิตให้แก่ตัวพิมพ์แบบเก่าเป็นไปได้ง่ายขึ้น

  แผ่นดิสก์ ซีดี และอินเทอร์เน็ต ทำให้การกระจายจ่ายแจกตัวพิมพ์ไปตามที่ต่างๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคย “กระจุกตัว” อยู่ในเฉพาะวงวิชาชีพด้านการพิมพ์ บัดนี้ ตัวพิมพ์จึงตกอยู่ในภาวะ “กระจายตัว” อย่างไร้ขอบเขต

จากการกระจุกตัวสู่การกระจายตัว

  การเปิดพรมแดนของตัวพิมพ์ด้วยระบบดิจิตอลในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ ส่งผลในด้านสร้างสรรค์มิใช่น้อย เช่น ก่อให้เกิดฟอนต์แปลกๆ ใหม่ๆ มากมาย การใช้ตัวพิมพ์ก็พัฒนารูปแบบและสไตล์ไปได้อย่างแทบไร้ขีดจำกัด ทั้งนี้ รวมถึงการที่ ตัวพิมพ์แบบไม่มีหัว กลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ตัวพิมพ์อักษรภาษาท้องถิ่นและภาษาของชนกลุ่มน้อยก็ได้มีโอกาสปรากฏโฉมขึ้นมาในช่วงนี้เอง

  อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ตลอดช่วงทศวรรษดังกล่าวก็ชี้ให้เห็นว่า ภาวะการกระจายตัวของตัวพิมพ์ก็ส่งผลในด้านที่ไม่พึงปรารถนาด้วยเช่นกัน

ปัญหาด้านศิลปะของตัวพิมพ์

  ในแง่สุนทรียศาสตร์ แม้เราจะยอมรับว่าดิจิตอลได้ทำให้ใครๆ ที่มีคอมพิวเตอร์สามารถใช้ตัวพิมพ์ได้ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ศิลปะการสร้างสรรค์ตัวพิมพ์ถูกละเลยไป ในยุคของตัวตะกั่วซึ่งตัวพิมพ์ยังกระจุกตัวอยู่ในวงวิชาชีพ การสร้างสรรค์ออกแบบตัวพิมพ์เป็นภาระหน้าที่ของมืออาชีพกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนและมีประสบการณ์มานานพอสมควร เมื่อสิ้นยุคดังกล่าว องค์ความรู้และทักษะที่สั่งสมไว้นี้ก็ค่อยๆ สลายตัวไป

  การเข้ามาของระบบดิจิตอลทำให้เกิดตัวพิมพ์แปลกใหม่มากมายเพียงในระยะแรก ความคึกคักดังกล่าว ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงภาพลวงตา เพราะเป็นการนำเอาแบบตัวพิมพ์ที่เกิดขึ้นในยุคตัวตะกั่วและตัวขูดมาลอกเลียนแบบและปรับปรุง มิได้มีการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อย่างจริงจังมากนัก

  ความสะดวกใช้ของคอมพิวเตอร์ อาจทำให้คนเข้าใจไปว่า การออกแบบและสร้างตัวพิมพ์เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ในความเป็นจริง การสร้างฟอนต์ที่ดีและสวยงามยังขึ้นต่อทักษะและความเชี่ยวชาญเช่นเดิม ส่วนศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ก็ยังขึ้นต่อความเข้าใจในเทคนิควิธีการ รวมทั้งเป้าหมาย ประโยชน์ใช้สอย และสุนทรียศาสตร์ของตัวพิมพ์ ดังที่เคยเป็นในยุคของช่างเรียง

  หัวใจของปัญหาอยู่ที่ การที่ไม่สามารถรวบรวมจัดระบบองค์ความรู้และทักษะ หรือกระทั่งการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหาในวงวิชาชีพนักออกแบบตัวพิมพ์ อันได้แก่ การที่ต่างคนต่างทำ ไม่มีการถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดในการแก้ปัญหาสู่กันและกัน

ปัญหาด้านมาตรฐานและความสอดคล้องระหว่างระบบต่างๆ

  ในยุคตัวพิมพ์ดิจิตอล เทคโนโลยีสารสนเทศกินความไปถึงการเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามสื่อข้ามระบบ เช่น การแปรรูปจากหนังสือไปสู่สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น ซีดีรอมและอินเทอร์เน็ต ตัวพิมพ์ไม่เพียงมีความหมายเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลหรือเอาไปใช้ในการพิมพ์หนังสือ ศักยภาพของตัวพิมพ์ยังกินความกว้างไปถึงความสามารถในการถูกแปรรูปเพื่อข้ามสื่อและข้ามระบบ

  คำว่า “มาตรฐานตัวพิมพ์” จึงหมายถึง ความสามารถในการทำงานร่วมกับฟอนต์และโปรแกรมอื่นๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและต่างประเทศ อีกทั้งสามารถดำรงบทบาทหน้าที่ในการนำพาข้อมูล โดยไม่ถูกกระทบกระเทือนโดยโปรแกรมหรือระบบปฏิบัติการที่ต่างกัน

  ปัญหามาตรฐานที่เกิดขึ้นในยุคนี้มีหลายประการ ปัญหาแรกซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดคือ ชื่อของฟอนต์ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ว่า ฟอนต์หลายแบบถูกเรียกชื่อต่างๆ กันไป ทั้งๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เรื่องนี้สร้างความไม่สะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการถ่ายโอนงานไปสู่อีกเครื่องหนึ่งหรืออีกหน่วยการผลิตหนึ่ง

  อันที่จริง ชื่อตัวพิมพ์เป็นปัญหามาตั้งแต่ยุคตัวตะกั่ว ตัวพิมพ์แบบเดียวกันมีชื่อตามแต่โรงพิมพ์หรือโรงหล่อจะตั้งขึ้น มาถึงยุคดิจิตอล ปัญหานี้แทนที่จะลดลง แต่กลับมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เพราะฟอนต์ถูกนำไปก๊อปปี้และเปลี่ยนชื่อได้ง่ายขึ้น ผู้ใช้ทุกคนจึงสามารถผลิตและตั้งชื่อฟอนต์ได้เองตามใจชอบ

  อีกปัญหาหนึ่งเกิดจากการที่ยุคดิจิตอลมีระบบปฏิบัติการใหญ่ๆ สองระบบอันได้แก่ แมคอินทอช กับ วินโดว์ ในโลกที่ใช้อักษรโรมัน ตัวพิมพ์จะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ใช้ได้กับทั้งสองระบบและสามารถข้ามระบบได้ สำหรับประเทศไทย การมีสองระบบทำให้ตัวพิมพ์ซึ่งแยกกันพัฒนามาตั้งแต่ต้นนั้น มีชื่อไม่ตรงกันและไม่สามารถนำไปใช้ข้ามระบบกันได้

  เท่าที่ผ่านมา เคยมีการพูดถึงคำว่า “มาตรฐานตัวพิมพ์” มาหลายครั้ง หน่วยราชการของรัฐในแต่ละยุคสมัยได้เคยพยายามหาทางตั้งมาตรฐานบางอย่าง เช่น ในการประชุมอนุกรรมการฯ มาตรฐานอักษรไทยของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๑๗ และที่ปรากฏในหนังสือ แบบตัวพิมพ์ไทย  พ.ศ. ๒๕๔๔ ของ เนคเทค

  ราชบัณฑิตยสถานได้มอบหมายให้คณะกรรการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย โดยทำการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์โครงสร้างตัวอักษรไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๙ จึงมาเสร็จสมบูรณ์ และสามารถจัดทำเป็นหนังสือ “มาตรฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐
Stacks Image 7998
หนังสือ มาตรฐานโครงสร้าง ตัวอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๐
ก ไก่ แบบหลัก
ก ไก่ แบบหลัก ตามมาตรฐานโครงสร้าง ตัวอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๐
Stacks Image 8009
หนังสือ แบบตัวพิมพ์ไทย โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พ.ศ. ๒๕๔๔
  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า มาตรฐานที่หน่วยราชการดังกล่าวพูดถึงเป็นเพียงมาตรฐานการใช้ภาษา เช่น โครงสร้างอักษรและอักขรวิธี ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานตัวเขียน ไม่เคยก้าวไปถึงมาตรฐานตัวพิมพ์

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์

  ประวัติศาสตร์ของตัวพิมพ์ชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากตัวตะกั่วเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรืออีกนัยหนึ่งชั่งตวงวัดในเชิงปริมาณได้ การถือครองกรรมสิทธิ์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เทคนิคการหล่อโลหะซึ่งต้องลงทุนสูงและใช้ทักษะเฉพาะ กำหนดให้แบบตัวพิมพ์และแม่ทองแดงเป็นสมบัติของเจ้าของกิจการโรงพิมพ์และโรงหล่อไปโดยปริยาย

  แม้ในยุคของโฟโต้ไทป์เซตติ้งก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่พัฒนาตัวพิมพ์ขึ้นมาก็คือ “ไทยรัฐ” หนังสือพิมพ์ที่กำลังยกระดับยอดจำหน่ายไปสู่หลักแสน หรือก้าวไปสู่ความเป็น “ยักษ์ใหญ่” ในสมัยนั้น ไทยรัฐสามารถอ้างกรรมสิทธิ์เหนือตัวพิมพ์ได้ ก็เพราะแบบตัวพิมพ์ยังอยู่ในสภาพที่รวมศูนย์ คือมีไว้สำหรับผู้ที่สามารถซื้อเครื่องเรียงพิมพ์แบบนี้เท่านั้น

  มองในแง่นี้ จะเห็นได้ว่าแม้ในยุคตัวตะกั่ว มูลค่าของแบบตัวพิมพ์ก็มีอยู่ เพียงแต่ถูกซ่อนเร้นไว้ในราคาของวัตถุดิบ เครื่องจักร และกระบวนการผลิต ในยุคดิจิตอล เครื่องจักรไม่ได้เป็นหลักประกันการถือครองกรรมสิทธิ์อีกต่อไป ตัวพิมพ์กลายสภาพจากสินค้าที่ผูกติดอยู่กับเครื่องจักรไปสู่ซอฟต์แวร์ นั่นหมายความว่า เป็นเรื่องยากที่คนจะเห็นและยอมรับว่ามันมีมูลค่า

  นอกจากนั้นการลอกเลียนหรือทำซ้ำได้ง่ายทำให้การควบคุมลิขสิทธิ์หรือหาประโยชน์จากตัวพิมพ์แทบจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อยุคดิจิตอลเริ่มขึ้น ผู้ที่สร้างตัวพิมพ์จึงไม่สามารถทำให้ตัวพิมพ์มีฐานะเป็นสินค้า หากกลายเป็นสิ่งที่แจกจ่ายหรือไม่ก็เป็นของแถมสำหรับผู้ใช้

  ทุกวันนี้ ลิขสิทธิ์ของตัวพิมพ์ดูจะเป็นปัญหาใจกลางของทุกปัญหา เช่น เมื่อไม่สามารถหาประโยชน์จากตัวพิมพ์ที่สร้างสรรค์ได้ ย่อมทำให้ไม่มีใครอยากจะคิดค้นหรือพัฒนาตัวพิมพ์แบบใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสองข้อแรกอันได้แก่ เรื่องศิลปะและมาตรฐานของตัวพิมพ์ ก็ยังมีความสำคัญอย่างสูง เพราะเป็นรากฐานของความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ การที่จะบอกว่า ตัวพิมพ์แบบใดเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่และแบบใดที่เป็นเพียงการดัดแปลงหรือลอกเลียนได้นั้น จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านศิลปะ เทคโนโลยี และมาตรฐานตัวพิมพ์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัย องค์ความรู้เหล่านี้เองที่จะกอบกู้ตัวพิมพ์ให้มีสถานภาพของศิลปะและประดิษฐกรรมเชิงปัญญา

ฟอนต์แห่งชาติ

  นอกจากนั้น ทางเนคเทคยังได้สร้างตัวพิมพ์แม่แบบขึ้น ๓ ชุด ได้แก่ กินรี ครุฑ และ นรสีห์ ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า “ฟอนต์แห่งชาติ” ตัวพิมพ์ชุดนี้มีเป้าหมายที่ประกาศไว้อย่างชัดแจ้งว่า เพื่อให้เป็นสาธารณสมบัติ หรืออนุญาตให้ใครๆ นำไปใช้ได้โดยอิสระ

  ทั้งนี้เพราะเนคเทคเล็งเห็นว่า ต่อไปในอนาคตอันใกล้ ตัวพิมพ์จำนวนมากอาจจะต้องมีการจดลิขสิทธิ์ การมีตัวพิมพ์ปลอดลิขสิทธิ์สำหรับใช้ในงานพื้นฐาน เช่น งานเอกสารของราชการและสำนักงานทั่วไป น่าจะเป็นการทุเลาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ โครงการฟอนต์แห่งชาติดำเนินมาหลายปี ก่อนจะถูกประกาศและเผยแพร่ออกไปอย่างเงียบๆ นับแต่กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔

  ดูเหมือนว่าโครงการนี้จะเป็นสัญญาณบอกว่า รัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญและมูลค่าของตัวพิมพ์ อีกทั้งต้องการสร้างตัวพิมพ์ที่มีคุณภาพ การขนานนามตัวพิมพ์ทั้ง ๓ แบบว่าเป็นตัวพิมพ์ “แห่งชาติ” นั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นการยกย่องคุณประโยชน์และศิลปะการออกแบบตัวพิมพ์ไปในตัว ส่วนการจัดหมวดหมู่ของแบบตัวพิมพ์โดยระบุชื่อผู้ออกแบบไว้ ก็ดูเหมือนเป็นการให้เกียรติแก่นักออกแบบตัวพิมพ์อีกด้วย

  อย่างไรก็ตาม ถ้าลองมองในอีกแง่หนึ่ง โครงการฟอนต์แห่งชาติ ก็เป็นเพียงการสานต่อความพยายามของรัฐที่จะ “จัดระเบียบ” ตัวพิมพ์ นั่นคือพยายามหามาตรการบางอย่างมาควบคุม ไม่ให้เกิดตัวพิมพ์ที่คลี่คลายหรือผิดเพี้ยนไปจากแม่แบบในอดีต การจัดระเบียบนี้ไม่ได้ต่างจากที่องค์กรอื่นๆ ของรัฐ เช่น ราชบัณฑิตยสถาน เคยทำและล้มเหลวมาแล้ว

  ส่วนตัวพิมพ์แม่แบบ ๓ แบบที่สร้างขึ้น คงไม่อาจนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมสถานภาพของตัวพิมพ์ ตรงกันข้าม อาจจะเป็นการพยายามหาทางออก โดยมองข้ามปัญหาความวุ่นวายสับสนด้านมูลค่าและความสำคัญของตัวพิมพ์ที่กำลังดำรงอยู่จริงๆ หากเป็นเช่นนี้ แทนที่จะทำหน้าที่แก้ปัญหา กลับมีส่วนทำให้ตัวพิมพ์มีอาการ “ลอยตัว” ยิ่งขึ้นไปอีก

  ที่สำคัญที่สุดก็คือฟอนต์แห่งชาติเกิดขึ้นในยุคเดียวกันกับที่บารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐกำลังถดถอย ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นจึงไม่มีการประกาศใช้อย่างมีรูปการและยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะเผยแพร่ ทำให้ความรู้นี้ส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มผู้ใช้ตัวพิมพ์

แบบตัวพิมพ์ ฟอนต์แห่งชาติ (ฟช.๑) กินรี

Stacks Image 7996
กินรี (Kinnari) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย เดียร์บุ๊ก

แบบตัวพิมพ์ ฟอนต์แห่งชาติ (ฟช.๒) ครุฑ

Stacks Image 7994
ครุฑ (Garuda) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ยูนิตี้ โพรเกรส

แบบตัวพิมพ์ ฟอนต์แห่งชาติ (ฟช.๓) นรสีห์

Stacks Image 7992
นรสีห์ (Norasi) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย เนคเทค
2019 | Thaifaces.com |
9,463