10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
PongMai

ตัวพิมพ์ กับระบอบการปกครองใหม่

PongMai Timeline
  ขณะที่ตลาดหนังสือกำลังเข้มแข็งขึ้นนั้น ตัวพิมพ์ก็ยังถูกดึงไปรับใช้สื่ออีกชนิดหนึ่ง นั่นคือหนังสือพิมพ์ ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการออกหนังสือพิมพ์กันอย่างคึกคักทั้งที่เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายอื่นๆ กว่าร้อย นักประวัติศาสตร์บางท่านเรียกยุคนี้ว่า “ยุคทองของหนังสือพิมพ์”

  การเติบโตครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อการรู้หนังสือได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง และกลุ่มข้าราชการ พ่อค้า และไพร่กระฎุมพีขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว คนกลุ่มนี้แม้จะยังมีจำนวนน้อย แต่ก็มีความต้องการข่าวสารทั้งในด้านการค้าและการเมือง และมีกำลังทรัพย์พอที่จะอุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์ได้

  ธุรกิจการหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้เปลี่ยนมือจากเจ้านายและชาวต่างประเทศ มาอยู่ในมือของพ่อค้าและกระฎุมพีทั้งที่เป็นชาวไทยและจีนสยาม เช่น ศรีกรุง  ของนายสุกรีและมานิต วสุวัต บางกอกการเมือง  และ ไทยหนุ่ม  ของนายหอม นิลรัตน์ ไทยใหม่  ของนายเอก วีสกุล หนังสือพิมพ์เหล่านี้เป็นทั้งสื่อที่เผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนและเวทีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

  ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๗) ขึ้นครองราชย์ ความขัดแย้งระหว่างความคิดเห็น กลุ่มการเมือง และชนชั้น ได้ขยายตัวไปจนกลายเป็นความไม่พอใจต่อระบบการปกครอง โดยเฉพาะระบบเจ้าขุนมูลนาย เสียงเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มดังขึ้นทีละน้อย การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น

  เมื่อรัฐบาลประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ กระแสการเรียกร้องทางการเมือง นำไปสู่การปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อันนำมาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่า ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ หนังสือพิมพ์ทั้งที่เป็นรายวันและรายอื่นๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายฉบับ หนังสือพิมพ์รายวันที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนี้คือ ประมวญวัน  และ ประชาชาติ  ซึ่งออกจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทั้งสองฉบับได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อแนวทางการเมืองของรัฐบาลและแนวคิดของประชาชนเป็นอย่างมาก

ตัวพิมพ์เพื่อสื่อสารกับมวลชน

  ความเจริญเติบโตของหนังสือพิมพ์ ส่งผลให้รูปแบบตัวพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับใช้สื่อสารมวลชน ตัวพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์ต้องการคือ ตัวพาดหัวข่าวหรือตัวดิสเพลย์ อันได้แก่ตัวพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองการเสนอข่าวสารของหนังสือพิมพ์รายวันและการโฆษณาที่จะต้องดึงดูดความสนใจ รวมทั้งการแบ่งระดับความสำคัญของข่าวสารข้อมูลให้ชัดเจน

  รูปแบบของตัวพิมพ์รุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า “โป้ง” ซึ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ ต่างกับตัวพื้นด้วยขนาดที่ใหญ่กว่ากันมาก และรูปลักษณ์ที่บึกบึนขึงขัง ตัวพิมพ์ดังกล่าว แทนที่จะพูดจาด้วยน้ำเสียงอันราบเรียบและเป็นทางการ กลับสื่อสารด้วยเสียงดังราวกับตะโกน กล่าวได้ว่า ตัวโป้งเป็นตัวแทนของยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ รวมทั้งสังคมการค้าและวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นในขณะนั้น

  หนึ่งในตัวพิมพ์ตระกูลโป้งที่มีชื่อว่า “โป้งแซ” ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะเป็นตัวพาดหัวตัวเดียวที่มีในขณะนั้น โป้งแซปรากฏเป็นครั้งแรกๆ ใน ไทยหนุ่ม บางกอกการเมือง และ ประชาชาติ

  โป้งแซมีขนาดเดียวคือ ๔๘ พอยต์ มีสัดส่วนกว้างกว่าตัวพิมพ์ธรรมดา มีเส้นหนา-บางที่แตกต่างกันมากกว่าตัวพิมพ์รุ่นก่อนๆ จุดที่น่าสนใจที่สุดในตัวโป้งแซคือ หัวอักษรซึ่งเป็นวงกลมทึบ และมีคอที่ยื่นยาวออกมา ความสำคัญของโป้งแซอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นตัวพิมพ์ชุดแรกที่ได้ชื่อตามนักออกแบบและผู้แกะแบบ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังหาประวัติหรือข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับท่านผู้นี้ไม่ได้
โป้งแซ
โป้งแซ มีขนาดเดียวคือ ๔๘ พอยต์ สำหรับใช้หาดหัวข่าวรองหรือใช้ในงานโฆษณา
  “โป้งใหม่” เป็นตัวโป้งอีกแบบหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน ตัวพิมพ์แบบนี้มีความสวยงามไม่แพ้โป้งแซ แต่สูงโปร่งขึ้น และที่น่าสนใจก็คือ ตลอดยุคตัวตะกั่ว โป้งใหม่เป็นที่นิยมใช้มาก มีการผลิตขนาดที่แตกต่างกันถึง ๕ ขนาด คือ ๒๐, ๓๒, ๓๖, ๔๐ และ ๗๒ พอยต์ (สำหรับขนาดใหญ่สุด บางแห่งเรียกว่า โป้งรอง บางแห่งเรียกว่า โป้งไม้บาง)

  ในช่วงปลายยุคตัวตะกั่ว ตัวพิมพ์ชุดนี้หายหน้าหายตาไปจากวงการราว ๒๐ ปี หลังจากนั้นจึงถูกปรับปรุงเป็นตัวคอมพิวฯ ชื่อ C3 และกลับมาเป็นที่รู้จักในปัจจุบันในชื่อ อีเอซี โกเมน
โป้งใหม่
โป้งใหม่ มี ๕ ขนาด คือ ๒๐, ๓๒, ๓๖, ๔๐ และ ๗๒ พอยต์ สำหรับใช้เป็นตัวพาดหัว ตัวโปรย ชื่อสิ่งพิมพ์ และงานโฆษณา
  ตัวพิมพ์ที่ถูกจัดอยู่ในตระกูลโป้งอีกตัวหนึ่งคือ “โป้งไม้” การที่ตัวพิมพ์ชุดนี้มีชื่อว่า “ไม้” นั้น สันนิษฐานว่าเพราะในช่วงแรกไม่ได้หล่อด้วยโลหะ แต่ใช้วิธีแกะไม้เป็นตัวๆ เช่นเดียวกับตัวพิมพ์ wood type ของตะวันตก นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โป้งไม้ได้เข้ามาทำหน้าที่พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวันแทนโป้งแซ

  โป้งไม้มีรูปแบบที่พัฒนาคลี่คลายมาหลายขั้นตอน เช่นที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ สุภาพบุรุษ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้น เข้าใจว่าแกะจากไม้ จึงทำได้ไม่สมบูรณ์ดี ส่วนการเรียงก็ยังโย้เย้ไม่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งกระดาษและอุปกรณ์การพิมพ์อื่นๆ ขาดแคลนมาก หลังสงครามมีการหล่อตัวนี้เป็นตัวตะกั่ว โป้งไม้จึงปรากฏรูปโฉมที่งดงามลงตัวและสามารถเรียงได้อย่างมีระเบียบ
โป้งไม้
โป้งไม้ มีขนาดเดียวคือ ๗๒ พอยต์ สำหรับใช้พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์
  รูปแบบของโป้งไม้ได้รับอิทธิพลจากตัวพิมพ์ที่ชื่อ fat face ซึ่งเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ Bodoni ซึ่งเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ลักษณะที่คล้ายกัน ได้แก่ มีขา หรือ เส้นตั้งที่หนามาก เส้นนอนบาง โค้ง และมีปลายมน หัวมีรูปร่างเหมือนวงรีครึ่งซีก อย่างไรก็ตาม โป้งไม้ยังมีข้อบกพร่องในอักษรบางตัว โดยเฉพาะตัวที่มีหัวกลาง เช่น ด เด็ก ค ควาย ต เต่า

กำเนิดของโรงหล่อตัวพิมพ์

  ในขณะที่ธุรกิจการพิมพ์พัฒนาเติบใหญ่ขึ้น โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ในยุคนี้ก็สามารถผลิตตัวพิมพ์ได้เอง โรงพิมพ์บางโรง เช่น ห้างสมุด จัดจำหน่ายตัวพิมพ์ตะกั่วให้แก่โรงพิมพ์อื่นๆ ด้วย

  บัดนี้ ตัวพิมพ์ไทยก้าวมาถึงจุดที่มีตัวพื้นให้เลือกใช้ราวห้าหกชุด และมีขนาดต่างๆ กัน ชุดละสองสามขนาด ตัวหนาที่มีในขณะนั้นมีขนาดใหญ่ไม่เกิน ๒๔ พอยต์ ตัวพื้นเองก็มีการปรับปรุงให้มีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่และจัดวางได้สวยงามขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือเริ่มมีตัวพิมพ์แบบเอนหรือ italic กำธร สถิรกุล บันทึกไว้ว่า พบครั้งแรกในหนังสือพระราชนิพนธ์บทละครของรัชกาลที่ ๖ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรในปี พ.ศ. ๒๔๖๘
Stacks Image 7885
ตัวพิมพ์แบบเอน ใน หนังสือพระราชนิพนธ์บทละครของรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๘ ภาพจากหนังสือ ตัวหนังสือและตัวพิมพ์ โดย กำธร สถิรกุล
  ในยุคเดียวกัน เกิดมีอาชีพช่างฝีมือที่เรียกกันว่า ช่างแกะ ช่างกลุ่มนี้เปิดห้างร้านรับจ้างแกะแบบ หล่อตัวพิมพ์ และนำไปจำหน่ายแก่โรงพิมพ์ ดังจะเห็นได้จากแจ้งความโฆษณาของนายแซ ช่างแกะตัวพิมพ์ ซึ่งลงในนิตยสาร รวมข่าว ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐

  การแยกกิจการเกี่ยวกับตัวพิมพ์ออกมาจากโรงพิมพ์ ถือเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่ง ข้อความในโฆษณาชิ้นนี้ นอกจากจะบอกว่า "โป้ง" เป็นชื่อของกลุ่มหรือตระกูลตัวพิมพ์ที่มีสไตล์และขนาดที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ชื่อของตัวพิมพ์แบบใดแบบหนึ่งหรือขนาดใดขนาดหนึ่งแล้ว ยังชี้ให้เห็นด้วยว่ากิจการของนายแซ ศิลปินช่างแกะผู้นี้ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
Stacks Image 7890
โฆษณา นายแซ ช่างแกะ ตีพิมพ์ใน รวมข่าว วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ภาพจากหนังสือ โฆษณาไทยสมัยแรก โดย เอนก นาวิกมูล
  ในช่วงเวลาเดียวกัน โรงหล่อตงเซียม ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นโรงหล่อตัวพิมพ์ชื่อดัง ก็ถือกำเนิดขึ้น ประวัติของตงเซียมน่าสนใจตรงที่มีความเกี่ยวพันกับการเมืองไทยในขณะนั้นพอสมควร

  ผู้ก่อตั้งตงเซียมชื่อ โง้ว เพ็ก ง้ำ เป็นชาวจีนสยามซึ่งเดินทางเข้ามาเมืองไทยเมื่ออายุ ๒๐ ปี เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ด้วยการเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนฝ่ายก๊กมินตั๋ง โง้ว เพ็ก ง้ำ ดำเนินกิจการนี้ต่อเป็นเวลาอีกสิบกว่าปี กลายเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนหลายฉบับเช่น มินก๊กยิดป่อ ก๊กมินยิดป่อ มั่งกกซิงซีป่อ  และหนังสือพิมพ์ไทยอีก ๒ ฉบับ

  เมื่อกิจการหนังสือพิมพ์จีนเริ่มขึ้น โง้ว เพ็ก ง้ำ เห็นความจำเป็นในการผลิตตัวพิมพ์ภาษาจีนขึ้นเพื่อใช้เอง อาศัยเครื่องจักรและแม่ทองแดงจากเมืองจีน เขาตั้งโรงหล่อตงเซียมและจำหน่ายตัวพิมพ์แก่โรงพิมพ์อื่นๆ ต่อมาจึงหันมาผลิตตัวพิมพ์ภาษาไทย รวมทั้งสั่งเครื่องหล่อตัวพิมพ์และแท่นพิมพ์เข้ามาจำหน่าย

  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ การเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นของชาวจีนในเมืองไทยทวีความเข้มข้นขึ้น จนทำให้รัฐบาลไทยหวาดระแวง เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เขาได้เริ่มดำเนินนโยบายปราบปรามและกดดันชาวจีนในเมืองไทย นโยบายนี้ทำให้มีการปิดหนังสือพิมพ์ของชาวจีนและโรงเรียนจีนจำนวนมาก ในช่วงนี้หนังสือพิมพ์ของ โง้ว เพ็ก ง้ำ จึงถูกสั่งปิดหลายครั้ง

  หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โง้ว เพ็ก ง้ำ ยุติธุรกิจการทำหนังสือพิมพ์ และหันมาดำเนินกิจการโรงหล่อตัวพิมพ์อย่างจริงจัง กิจการการพิมพ์และหนังสือพิมพ์ไทยหลังสงครามโลกนั้นเฟื่องฟูขึ้นเป็นอันมาก ตงเซียมจึงกลายเป็นแหล่งตัวพิมพ์ที่โรงพิมพ์ทั้งหลายพึ่งพา มีทั้งมาซื้อตัวเรียงและจ้างเรียง ต่อมาได้กลายเป็นโรงหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และดำเนินกิจการเรื่อยมาจนสิ้นสุดยุคตะกั่ว

  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การขยายตัวของธุรกิจการพิมพ์ทั้งที่ทำโดยรัฐและเอกชน นอกจากจะสำรวจได้จากปริมาณหนังสือ หนังสือพิมพ์ และจำนวนโรงพิมพ์ที่กระจายไปสู่จังหวัดต่างๆ อย่างมากมายแล้ว ยังอาจสังเกตได้จากการเปิดสอนวิชาช่างพิมพ์เพื่อผลิตช่างพิมพ์ด้วย โดยโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อเปิดสอนวิชานี้เป็นการเฉพาะเป็นโรงเรียนแรก คือ โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ถนนพระสุเมรุ ริมคลองบางลำพู
Stacks Image 7894
โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชวิศยาราม เปิดสอนวิชาช่างพิมพ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕–๒๔๘๙
เปลี่ยนเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ พิพิธบางลำพู

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค โป้งไม้

Stacks Image 7933
อีเอซี โกเมน (EAC Komain) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย อี๊สเอเชียติ๊ก
Stacks Image 8018
ดีบี แซ (DB Zair X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 8020
ดีบี โป้งไม้ (DB PongMai X) ๒ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 8022
เอสอาร์ หมานคร โดย ไพโรจน์ ธีระประภา (โรจ สยามรวย)
2019 | Thaifaces.com |
6,998