10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close

บทสรุป

  ประวัติศาสตร์ของตัวพิมพ์ที่ผ่านมาคงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตลอดเวลากว่า ๑๖๐ ปีนั้น สังคมไทยได้มอบหมายภารกิจมากมายให้แก่ตัวพิมพ์ นับตั้งแต่การเผยแพร่ความรู้ การพาณิชย์ การสร้างบุคลิกให้แก่ข้อมูลข่าวสาร การตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของภาษา ตลอดจนการสถาปนาความเป็นชาติ ฯลฯ นอกจากนั้น วิวัฒนาการของมันยังช่วยชี้ให้เห็นด้วยว่า ตัวพิมพ์เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจาก “ประชาคมผู้ใช้ตัวพิมพ์” ซึ่งหมายถึงเครือข่ายของผู้เขียน ผู้พิมพ์ ผู้อ่าน นักออกแบบ ฝ่ายศิลป์ ช่างเรียง ช่างพิมพ์ ตลอดจนกลุ่มผู้ดำเนินการผลิต เช่น โรงพิมพ์ โรงหล่อตัวพิมพ์ โรงงานกระดาษ ฯลฯ

  พัฒนาการของตัวพิมพ์ในอดีต แม้จะไม่ได้บรรลุถึงขั้นเป็นเลิศ แต่ก็ประสบความสำเร็จพื้นฐานเป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญก็คือ ความสำเร็จทั้งหลายล้วนเกิดจากการที่ประชาคมผู้ใช้ตัวพิมพ์มีความเชื่อมั่นในพลังของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ จึงได้ระดมเอาปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทุน เทคโนโลยี หรือ ศิลปะความเชี่ยวชาญแขนงต่างๆ มาช่วยกันสร้างเสริมความสมบูรณ์ให้แก่ตัวพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือที่กล่าวมาได้ผลักดันให้ตัวพิมพ์ดำเนินภารกิจข้างต้นจนลุล่วง

  ครั้นก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ตัวพิมพ์ซึ่งได้รับผลสะเทือนจากเทคโนโลยีนี้อย่างรุนแรงที่สุด ได้เปลี่ยนสถานะจากที่เคยกระจุกตัวกลายเป็นกระจายตัวไปอยู่ในมือผู้ใช้ที่มีความหลากหลายและกระจัดกระจาย ผลที่ตามมาก็คือ ประชาคมผู้ใช้ตัวพิมพ์ซึ่งเคยเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ในอดีต ได้ขยายขอบเขตออกไปอย่างมหาศาล จนตกอยู่ในสภาพที่ไร้พรมแดนหรืออีกนัยหนึ่ง “ลอยตัว” อยู่อย่างกระจัดกระจาย ยากที่จะร่วมกันระดมเอาปัจจัยทั้ง ๓ ประการข้างต้นมาช่วยกันพัฒนาตัวพิมพ์เช่นในยุคต่างๆ ที่ผ่านมา

  ประวัติศาสตร์ตัวพิมพ์และแบบตัวพิมพ์สำคัญๆ ของยุคสมัยต่างๆ ที่เรียบเรียงขึ้นในครั้งนี้ เป็นก้าวหนึ่งของความพยายามทำความเข้าใจกับตัวพิมพ์และประชาคมผู้ใช้ตัวพิมพ์ ประโยชน์ที่เราคาดหวังคือ ปูพื้นฐานสำหรับการออกแบบตัวพิมพ์ที่มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นในยุคต่อไป นั่นหมายความว่า หากผู้ใดมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในพลังของตัวพิมพ์ ในวันข้างหน้า หน้าที่ของเขานอกจากจะเป็นการสร้างสรรค์ในแนวทางที่ไม่ซ้ำของเดิมแล้ว ยังต้องแสวงหาความร่วมมือของประชาคมแบบใหม่ที่ไม่เหมือนกับในอดีตอีกด้วย

  มีคำโบราณกล่าวว่า ภาพหนึ่งภาพสามารถพูดได้นับพันคำ หวังว่าอย่างน้อยที่สุด หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว หน้าตาของตัวพิมพ์ตัวหนึ่งอาจจะโน้มน้าวให้ผู้อ่านหวนรำลึกไปถึงภาพเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากมายในระหว่างที่มันกำลังก่อเนิด รวมทั้งเรื่องราวของบุคคลจำนวนหนึ่งที่ได้ทุ่มเทกำลังความสามารถและสติปัญญาในการสร้างมันขึ้นมา

– ประชา สุวีรานนท์ –

2019 | Thaifaces.com |
3,226