10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
TomLight

ตัวพิมพ์ ยุคโฟโต้ไทป์เซตติ้ง

TomLight Timeline
  ตัวพิมพ์ในระบบโฟโต้ไทป์เซตติ้งมีวิธีการสร้างเหมือนเทคนิคการอัดรูป กล่าวคือ ใช้ฟิล์มเนกาตีฟและกระดาษอัดรูปหรือแผ่นเคลือบน้ำยาที่มีความไวต่อแสง การสร้างฟิล์มเนกาตีฟที่มีรูปอักษร ทำโดยถ่ายรูปแบบตัวอักษรลงบนฟิล์ม ส่วนการทำงานของเครื่องเรียงพิมพ์ระบบนี้ เริ่มจากการบังคับเครื่องด้วยแป้นพิมพ์ ให้แสงฉายผ่านฟิล์มเนกาตีฟไปตกลงบนกระดาษอัดรูป หลังจากนั้นเมื่อเรียงพิมพ์จนจบแผ่นตามขนาดของหน้าหรือคอลัมน์ที่ต้องการแล้ว ก็นำกระดาษนั้นไปล้างน้ำยา จะได้กระดาษที่มีตัวอักษรปรากฏอยู่และพร้อมจะนำไปทำเป็นแม่พิมพ์ในระบบออฟเซต

  จุดเด่นของการเรียงพิมพ์แบบโฟโต้ไทป์เซตติ้งคือ สามารถลดทอนระยะเวลาในการเรียง อีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับช่างเรียง ตัวพิมพ์ และห้องเก็บตัวพิมพ์ เพราะเครื่องเรียงพิมพ์ระบบใหม่เพียงหนึ่งเครื่องสามารถทำงานได้เร็วเท่ากับช่างเรียงนับสิบคน การลดระยะเวลาเรียงพิมพ์ย่อมมีประโยชน์แก่กิจการหนังสือพิมพ์มาก เพราะจะทำให้การผลิตรวดเร็วทันต่อสถานการณ์มากขึ้น

  ด้วยเหตุผลนี้ ไทยรัฐ ในฐานะที่เป็นหนังสือพิมพ์ใหญ่ จึงร่วมมือกับ บริษัท อีเอซี ในฐานะผู้จำหน่ายเครื่องเรียงพิมพ์ “คอมพิวกราฟิก” ทำการพัฒนาตัวพิมพ์เพื่อนำมาใช้ในกิจการของตน

  ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ทองเติม เสมรสุต หัวหน้ากองการผลิตของ ไทยรัฐ ได้ร่วมมือกับบริษัท Compugraphic ผู้ผลิตเครื่องเรียงพิมพ์ระบบนี้ สร้างตัวพิมพ์ชุดอีเอซีขึ้นมา ผลงานชุดนี้ส่วนหนึ่งเป็นงานแกะแบบตัวพิมพ์ยุคตัวตะกั่วจำนวนกว่าสิบแบบ อีกส่วนหนึ่งเป็นงานออกแบบใหม่ เช่น C1 ที่กลายมาเป็น อีเอซี ทอมไลท์ ในยุคต่อมา

  ทักษะและความสามารถของ ทองเติม เสมรสุต นั้นมีหลายด้าน ก่อนที่จะหันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องการพิมพ์และการออกแบบ เขามีประสบการณ์ในวงการหนังสือพิมพ์มาอย่างโชกโชนมาก่อน เคยเป็นทั้งบรรณาธิการ (หนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองรายวัน สายธาร ฯลฯ) นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักทำโฆษณา นักออกแบบสิ่งพิมพ์ และศิลปินวาดภาพประกอบ ในเวลาต่อมา เขายังได้มีบทบาทในการสอนฝึกอบรมและสร้างความรู้ด้านทฤษฎีเกี่ยวกับตัวพิมพ์และการพิมพ์ มีผลงานเป็นหนังสือและตำรามากมาย เช่น ตำราของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ คู่มือการพิมพ์ออฟเซต
Stacks Image 7860
นายทองเติม เสมรสุต
  อีเอซี ทอมไลท์ มีลักษณะคล้ายกับตัวพื้นแบบธรรมดาที่มีเส้นบาง แต่มีเส้นและรูปทรงที่เป็นแบบเรขาคณิตมากขึ้น เช่น เส้นนอนของทุกตัวมีความโค้งเกือบเท่ากัน เช่น ค ควาย จ จาน ล ลิง ด เด็ก ว แหวน และ อ อ่าง ให้มีความโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลมและมีปลายเส้นที่ลากตกลงมาเป็นเส้นตรง ส่วนเส้นทแยงของบางตัวที่เคยโค้งงอเข้าหาเส้นทแยง ก็เปลี่ยนเป็นหักเข้าเป็นมุมแหลม (สังเกตจุดเด่นเหล่านี้ได้จากตัว ท ทหาร ร เรือ และ ล ลิง) ลักษณะนี้ทำให้ตัว ทอมไลท์ มีบุคลิกแบบ “สมัยใหม่” (modern) เพราะดูประหนึ่งว่า ต้องการจะลดทอนองค์ประกอบของอักษรไทยให้เหลือเพียงรูปทรงเชิงเรขาคณิตขั้นพื้นฐาน เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และ วงกลม ถือได้ว่า “อีเอซี ทอมไลท์” เป็นการบุกเบิกแนวทางใหม่ที่เน้นเความเป็นระเบียบและเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าตัวพิมพ์รุ่นก่อนๆ ในเวลาต่อมา ทองเติม เสมรสุต ได้สร้าง ทอมโบลด์ หรือตัวหนาของชุดนี้ขึ้นมาด้วย

  หลังจากที่เข้าไปเปลี่ยนโฉมตัวพิมพ์และระบบการพิมพ์ของ ไทยรัฐ ระบบโฟโต้ไทป์เซตติ้งก็เป็นที่ยอมรับในวงการสิ่งพิมพ์อย่างรวดเร็ว ในทันทีที่ระบบนี้ขยายตัว โรงหล่อตัวพิมพ์ก็ต้องหยุดการเติบโต ส่วนช่างเรียงพิมพ์ก็พากันตกงานกันทั่วประเทศ แบบแผนและความชำนาญด้านนี้ก็พลอยสูญหายไปไม่น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่คือ “ร้านตัวคอมพิวฯ” ซึ่งรับเรียงตัวและจัดหน้าตามคำสั่งของผู้ออกแบบสิ่งพิมพ์ บทบาทของช่างเรียงพิมพ์ซึ่งเคยเป็น “ตัวกลาง” ในกระบวนการเรียงพิมพ์ถูกแทนที่โดยพนักงานประจำเครื่องคอมพิวกราฟิก

  ในแง่ขั้นตอนการทำงาน ผลกระทบต่อมาคือ การเรียงพิมพ์และหน่วยอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกับการเรียงพิมพ์ อันได้แก่ การเลือกตัวเรียงและการดูแลความสวยงามของสิ่งพิมพ์ ถูกแยกออกจากโรงพิมพ์ และย้ายมาอยู่ในแผนกออกแบบและสำนักพิมพ์แทน

  ยุคแรกของระบบโฟโต้ฯ มีปัญหาตัวบวมและไม่คมชัดเกิดขึ้นมาก ในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๓ คอมพิวกราฟิกก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการทำตัวพิมพ์ชุดที่ ๒ ออกมา โดยมีตัวพิมพ์ที่เป็นที่นิยมคือ “ชวนพิมพ์” ซึ่งออกแบบโดย เชาวน์ ศรสงคราม, “อู่ทอง” ซึ่งออกแบบโดย มานพ ศรีสมพร และ “คลองลาน” ซึ่งออกแบบโดย นิวัฒน์ เจริญผล ในยุคสุดท้ายของระบบโฟโต้ฯ ตัวพิมพ์มีคุณภาพดีขึ้น สามารถบีบและถ่างความกว้างของตัวอักษรได้

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค ทอมไลท์

Stacks Image 7870
อีเอซี ทอมไลท์ (EAC TomLight) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ทองเติม เสมรสุต
Stacks Image 7868
อีเอซี ชวนพิมพ์ (EAC ChuanPim) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย เชาวน์ ศรสงคราม
Stacks Image 7866
เอซี อู่ทอง (EAC UThong) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย มานพ ศรีสมพร
Stacks Image 7864
คลองลาน (Klonglarn) โดย นิวัฒน์ เจริญผล
2019 | Thaifaces.com |
6,380