10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
TongSiam
ตัวพิมพ์ กับการสถาปนาชาติ
TongSiam Timeline
  ในช่วงต้นของรัชกาลที่ ๕ แบรดลีย์และสมิธได้ลดบทบาทการออกหนังสือพิมพ์ลง แต่ไม่ได้ยุติกิจการของโรงพิมพ์ ทั้งสองหันมาผลิตหนังสือทั้งที่เป็นความรู้และวรรณกรรมอย่างขนานใหญ่ ตัวพิมพ์ได้แสดงบทบาทอย่างมากในเวทีใหม่นี้

การพิมพ์บ่ายหน้าไปสู่ตลาดหนังสือ

  แบรดลีย์และสมิทได้ต้นฉบับมาจากเอกสารยุคก่อนการพิมพ์ ซึ่งอยู่ในรูปของสมุดข่อย สมุดไทย และ ใบลาน เอกสารเหล่านี้ได้มาจากทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์ รวมทั้งจากขุนนางชั้นสูง เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ต้นฉบับเหล่านี้จะถูกนำมาเรียบเรียงตีพิมพ์ใหม่ ในรูปหนังสือเล่มหรือที่เรียกกันว่า “สมุดฝรั่ง”
Stacks Image 8012
แซมมวล จอห์น สมิท หรือ สมิท
(Samuel John Smith)
  เล่มที่โด่งดังที่สุดคือ พระอภัยมณี  ของสุนทรภู่ ซึ่งแยกพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ สิบกว่าเล่ม หนังสือชุดนี้เป็นผลงานการจัดพิมพ์ของสมิท เป็นที่ร่ำลือกันว่าทำให้ผู้พิมพ์จำหน่ายร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น (ออกครั้งละ ๑ เล่มสมุดไทย เล่มละสลึง) นอกจากนั้น เขายังได้จัดการสั่งแท่นพิมพ์มาขาย ซึ่งมีผลทำให้เกิดโรงพิมพ์ขึ้นอีกหลายโรงด้วย
พระอะไภยมะณี พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ ครูสมิท บางคอแหลม พ.ศ. ๒๔๑๑  ภาพจาก twitter.com/1or100lann_019
  ส่วนแบรดลีย์นั้น นอกเหนือจากหนังสือแปล ตำรา และพงศาวดารจีนหลายเล่ม ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เขายังได้พิมพ์หนังสือที่ถือเป็นผลงานชิ้นเอก นั่นคือ อักขราภิธานศรับท์  หรือ Dictionary of the Siamese Language  หนังสือเล่มนี้เขียนโดยอาจารย์ทัด และถือกันว่าเป็นพจนานุกรมเล่มแรกของไทย บรรจุคำศัพท์ไว้ถึง ๔๐,๐๐๐ คำ และเป็นต้นแบบสำหรับการจัดทำพจนานุกรมในสมัยต่อมา
อักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. ๒๔๑๖
อักขราภิธานศรับท์ (Dictionary of the Siamese Language) พ.ศ. ๒๔๑๖  ภาพจาก Tuepfli's Global Village Library
  หนังสือบางเล่มก็มีการพิมพ์คราวละมากๆ เช่น หนังสือไทยสำหรับมูลศึกษา กรมศึกษาธิการ เรื่องประถม ก กา  พิมพ์ครั้งที่ ๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐ ฉบับ บางเล่มก็พิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เช่น กฎหมายไทยของหมอปรัดเล พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖

  การเปลี่ยนแนวทางของโรงพิมพ์ทั้งสองจากหนังสือพิมพ์มาสู่หนังสือเล่ม ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างลอยๆ หรือในขอบเขตเล็กๆ เพราะความตื่นตัวในเรื่องการอ่านหนังสือและแสวงหาความรู้กำลังก่อตัวขึ้นเป็นกระแสใหญ่ในสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ในเวลาใกล้เคียงกัน ราชการไทยก็เริ่มตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยีการพิมพ์ ในฐานะเครื่องมือของอำนาจ

ตัวพิมพ์กับความศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่

  อะไรคือความแตกต่างระหว่าง อักษรตัวหนึ่งที่เขียนด้วยลายมือ กับ อักษรตัวเดียวกันที่พิมพ์ด้วยเครื่อง ? การผลิตอักษรด้วยลายมือมนุษย์ แม้จะรักษาโครงสร้างของอักษรไว้ได้และสามารถคงรูปสัณฐานไว้ตามแม่แบบ แต่ทุกครั้งที่ตัวอักษรนั้นถูกเขียนขึ้นใหม่ ก็ย่อมมีรายละเอียดที่ผิดเพี้ยนกันไปไม่มากก็น้อย แต่ในทางตรงกันข้าม เทคโนโลยีการพิมพ์สามารถดลบันดาลให้ตัวอักษรที่ผลิตซ้ำ มีหน้าตาเหมือนกันอย่างสมบูรณ์น่าทึ่ง ประหนึ่งว่าจดจารด้วยฝีมือของเทพยดาผู้มีนามว่าความศิวิไลซ์ มนต์ขลังของตัวพิมพ์อยู่ที่มันได้ปลดปล่อยตัวอักษรให้หลุดพ้นจากความไม่สม่ำเสมอของลายมือมนุษย์

  อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่การพิมพ์สถาปนาขึ้นคือ ความเป็นเอกรูป (uniformity) ของตัวอักษร อีกทั้งยังเป็นเอกรูปที่มีความเป็นนิรันดร์ (eternity) นั่นคือสามารถถูกผลิตซ้ำอย่างยั่งยืนถาวรไปได้นานแสนนาน

  ความเป็นเอกรูปและความเป็นนิรันดร์ สองสิ่งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ชาติ ด้วยเหตุที่ตัวพิมพ์แต่ละตัวบรรจุคุณสมบัติทั้งสองข้างต้นไว้อย่างครบถ้วน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันจะถูกดึงไปใช้เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพเพื่อสร้างอำนาจแผนใหม่ให้แก่รัฐ เริ่มด้วยการใช้ตัวพิมพ์เป็นสื่อเกาะอิงสำหรับสถาปนา “องค์ความรู้แห่งชาติ” ขึ้นมา

ความรู้ถูกยกระดับให้กลายเป็นสถาบันด้วยการพิมพ์

  การสถาปนารัฐแบบใหม่ที่เรียกว่าชาติ ไม่ได้เป็นเพียงการปรับปรุงเทคนิคการบริหารราชการ แต่ยังเป็นการให้นิยามความหมายแบบใหม่แก่ชุมชนของตนเอง ความหมายนี้จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของสังคมได้ ถ้าเปรียบการทำแผนที่ว่าเป็นการก่อร่างสร้างกายให้แก่ชาติ และ การสถาปนาระบบการปกครองแบบใหม่เป็นการสร้างเครือข่ายของเส้นประสาท การสังคายนาความรู้เกี่ยวกับตนเองและโลก ก็เป็นเสมือนการสร้างสติปัญญาให้แก่องคาพยพทางการเมืองสมัยใหม่นี้

  บทบาทดังกล่าวเริ่มขึ้นโดย หอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ หอสมุดแห่งนี้ทำหน้าที่เหมือนคลังสมองของชาติ กล่าวคือ รวบรวม เลือกสรร คัดลอก และตรวจสอบต้นฉบับเก่าๆ (ซึ่งอยู่ในรูปของเอกสารใบลาน สมุดข่อย) แต่งต้นฉบับใหม่ๆ และที่สำคัญยิ่งคือ นำเอาต้นฉบับทั้งเก่าและใหม่เหล่านี้มาดำเนินการจัดพิมพ์เป็นหนังสือ

  การเชิดชูหนังสือทำให้ความรู้ในสังคมไทยเกิดการหักเหทิศทางอย่างรุนแรง เช่น จากสังคมที่ศึกษาธรรมะเป็นหลัก ก็หันมาศึกษาสิ่งที่กว้างขวางขึ้น อาทิ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี จากความรู้ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ครูหรือพระ และผันแปรไปตามแต่ผู้เทศนา กลายเป็นความรู้ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวหนังสือ ซึ่งถูกตรึงไว้อย่างแน่นหนาด้วยความเป็นเอกรูปและความเป็นนิรันดร์ของตัวพิมพ์ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ตัวพิมพ์มีส่วนสร้างความศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่ให้แก่องค์ความรู้ที่มาเกาะอิงกับตัวมัน

  พูดอีกอย่างหนึ่ง “วิชา” ไม่ได้กินความกว้างๆ อีกต่อไป แต่หมายความเฉพาะเจาะจงลงไปเลยว่าเป็น “วิชาหนังสือ” ซึ่งหมายถึง “วิชาที่ได้รับการพิมพ์ลงเป็นหนังสือ” ด้วยนิยามใหม่นี้ ความรู้จึงกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ รวบรวมได้ ตรวจสอบได้ และที่สำคัญก็คือ วางมาตรฐานบางอย่างได้

  นอกจากนั้น ภายใต้แนวคิดที่ว่าวิชาหนังสือเป็นที่นับถือกันในโลกตะวันตก และความรู้เป็นคุณสมบัติที่ชาติอันศิวิไลซ์จะพึงมี หรืออย่างน้อยก็ดูเหมือนว่ามีการสร้างห้องสมุดหรือคลังสมองจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐชาติแบบใหม่ ความรู้อันอยู่ในรูปที่หอพระสมุดฯ ได้จัดระเบียบแล้วจึงกลายเป็น “วิชาอันประเสริฐ”

ตัวพิมพ์เข้าแทนที่ลายมือ หนังสือเข้าแทนที่ใบลาน

  การนำเอกสารเก่ามาจัดพิมพ์เป็นหนังสือนั้น หอพระสมุดฯ เห็นเป็นภารกิจอันสำคัญ หนังสือเป็นหนทางที่จะรักษาสืบทอดความรู้ ซึ่งในที่นี้ก็คือหยุดยั้งการเสื่อมสลายของเอกสารเก่า ในขณะเดียวกัน การทำงานนี้ก็มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้มาตรฐานของชาติขึ้นมาด้วย ดังที่กล่าวมาแล้วว่ากระแสความตื่นตัวด้านความรู้ในหมู่ประชาชนกำลังก่อตัวขึ้น หอพระสมุดฯ จึงเล็งเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้โรงพิมพ์ มิชชันนารี และชาวบ้าน จัดพิมพ์เอกสารที่คัดลอกอย่างผิดๆ ถูกๆ ต่อความรู้นั้น

  หอพระสมุดฯ พยายามดำเนินนโยบายทั้งในด้านควบคุมและเผยแพร่ นั่นหมายความว่า นอกจากจะทำตัวเป็นผู้จัดพิมพ์แล้ว หอพระสมุดฯ ยังได้ตั้งตัวเป็นผู้ให้อนุญาตการจัดพิมพ์แก่โรงพิมพ์อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโรงพิมพ์อื่นๆ นำต้นฉบับเหล่านี้ไปพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานศพ หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ ตรวจความสมบูรณ์ถูกต้อง ดูแลคุณภาพการพิมพ์ กำหนดราคา รวมทั้งเก็บค่าธรรมเนียมซึ่งเรียกว่า “ค่าภาคหอพระสมุด” ซึ่งกำหนดให้ส่งมอบหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นจำนวนร้อยละ ๒๐ ของยอดพิมพ์

  มองอย่างเผินๆ จะเห็นว่า หนังสือในช่วงนี้พัฒนาในด้านปริมาณยอดพิมพ์และการเข้าเล่มทำปกที่ประณีตงดงามขึ้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การเข้ามาของกระบวนการพิมพ์หนังสือแบบหอพระสมุดฯ เอื้ออำนวยให้เกิดการควบคุมได้ง่ายขึ้น การตรวจสอบ กลั่นกรอง และตรวจทานให้ตรงกับต้นฉบับ ถูกรวมศูนย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในยุคนี้เอง มีการจัดพิมพ์ ตำราอักขรวิธี พจนานุกรม และระเบียบเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายวรรคตอน ขึ้นมาหลายเล่ม

  ดังนั้น ถึงแม้ว่าหอพระสมุดฯ ไม่ได้เข้ามาปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์และตัวพิมพ์โดยตรง แต่โดยการสร้างมาตรฐานการจัดพิมพ์ หอพระสมุดฯ ก็ได้ทำให้การพิมพ์และรูปแบบของหนังสือสมัยใหม่มีบทบาทเป็นสำเนียงแม่บทให้แก่ความรู้มาตรฐานดังกล่าว

  กระบวนการนี้เองที่เราอาจตีความว่า มีบทบาทไม่น้อยในการสร้างรัฐชาติ เพราะในการจำแนกแยกแยะความรู้ต่างๆ ก็คือ การแยกความรู้ของไทยออกจาก “ไม่ไทย” ซึ่งการแยกแยะนี้ มักจะส่งผลให้ความรู้บางอย่างที่ผู้ตรวจสอบคิดว่า “แปลกๆ” หรือ “วิปลาส” ถูกกำจัดทิ้งไป ความรู้ที่หอพระสมุดฯ จัดพิมพ์เป็นความรู้ที่ถูกกลั่นกรองแล้วว่าเหมาะสมจะเป็นสมบัติของชาติ ความรู้ที่ถูกคัดออกมีจำนวนเท่าไร ไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จะไม่ถูกพิมพ์และส่งเสริมให้ใช้เป็นมาตรฐาน

ตัวพิมพ์กับการสร้างมาตรฐานตัวเขียน

  ตัวพิมพ์มิได้มีบทบาทเป็นแค่เพียงสื่อสำหรับตรึงความรู้ที่ผ่านการสังคายนาแล้วเท่านั้น หากยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับตรึงภาษาเขียนไว้ในรูปแบบเดียวกันอีกด้วย ก่อนหน้ายุคการพิมพ์ เราสามารถพบวิธีการสะกดคำอันหลากหลายสำหรับคำคำเดียวกัน ซึ่งมิได้ถือว่าเป็นความบกพร่องทางภาษาแต่อย่างใด ครั้นเมื่อหอพระสมุดฯ ได้เข้ามาควบคุมการจัดพิมพ์องค์ความรู้มาตรฐาน ย่อมเกิดความพยายามที่จะควบคุมภาษาให้เป็นบรรทัดฐานควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ โดยการลดทอนความหลากหลายของวิธีสะกดคำให้เหลือแค่เพียงรูปแบบเดียว อักขรวิธีมาตรฐานที่ตรึงไว้ด้วยตัวพิมพ์ดังกล่าวนี้ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างชาติ

  ในระดับที่เหนือขึ้นไปจากการสะกดคำ ตัวพิมพ์ก็มีบทบาทในการสร้างเอกรูป ให้แก่แบบแผนของภาษาเขียนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำ สำนวน หรือรูปประโยคที่ปรากฏในเอกสารราชการ ล้วนแล้วแต่ได้รับการจัดแต่งให้เป็นแบบแผนเดียวกันหมด แล้วจึงตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นที่ยอมรับของประชาชน เนื่องเพราะเห็นว่าเป็นแบบแผนที่กำหนดโดยอำนาจทางการ (authority) คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่า ตัวพิมพ์มีส่วนร่วมกลไกการทำให้ภาษาเขียนเกิดการ “แข็งตัว” 

  ตัวพิมพ์ยังคงได้ติดตามกระบวนการสร้างรัฐชาติของสยามในขั้นตอนต่อไป นั่นคือ ขั้นตอนของการผนวกดินแดนประเทศราช ซึ่งเดิมอยู่ในฐานะรัฐอิสระที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เช่น ดินแดนล้านนา เมื่อดินแดนเหล่านี้ถูกผนวกเข้ามาเป็นมณฑลหนึ่งของสยามแล้ว ก็มีการนำเอาภาษาไทยไปบังคับหยิบยื่นให้แก่ผู้คนในดินแดนดังกล่าว แน่นอนว่า กระบวนการแผ่อิทธิพลทางภาษานี้ย่อมต้องอาศัยภาษาเขียนของราชการเป็นตัวนำร่อง ดังเช่นที่ปรากฏในคำสั่ง ใบประกาศราชการ ป้ายชื่อสถานที่ รวมทั้งตำราเรียนต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกาะอยู่กับตัวพิมพ์ที่สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่าง ธงสยาม
หน้าตาของชาติและตัวพิมพ์

  เราได้เห็นแล้วว่า รัฐชาติที่กำลังก่อตัวได้ให้ความสำคัญอย่างใหญ่หลวงเพียงใดต่อสิ่งพิมพ์ในฐานะเครื่องมือนิยามตัวตนของชาติ ดังนั้น โครงการจัดพิมพ์หนังสือขนาดใหญ่โตเพื่อสร้างหน้าตาของประเทศ เช่น การจัดพิมพ์ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม  จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

  หนังสือเล่มนี้ นับเป็นเอกสารฉบับแรกซึ่งกำหนดให้ธงรูปช้างบนพื้นแดงเป็นธงชาติของสยาม นับเป็นเอกสารที่เกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างสยามกับชาติอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินเรือและการค้าขายระหว่างประเทศ

  เพื่อให้หนังสือมีความประณีตสวยงาม ทั้งในแง่ การจัดหน้า การวาดภาพประกอบ การพิมพ์ และการทำปกเข้าเล่ม ทางราชสำนักจึงได้ส่งไปดำเนินการจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่เมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี อันเป็นเมืองอุตสาหกรรมการพิมพ์สำคัญของโลก
Stacks Image 8058
พระราชบัญญัติ ว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) ภาพจาก sale48.eurseree.com
  ตัวพิมพ์ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม  มีขนาดราว ๑๖ พอยต์ มีเส้นที่หนาเท่ากันโดยตลอด หากนำไปเปรียบเทียบกับตัวบรัดเลสองแบบหลัง ก็จะเห็นว่าตัว “ธงสยาม” มีโครงสร้างที่คล้ายกัน แต่มีความอ่อนช้อยมากกว่า จุดเด่นคือตัว ญ หญิงที่มีหางติดกับลำตัว และมีการเว้นระยะระหว่างบรรทัดน้อยมาก

  ตัวพิมพ์ธงสยามเป็นตัวพิมพ์ที่เคยใช้ในโรงพิมพ์หลวงและโรงพิมพ์อื่นๆ ปรากฏครั้งแรกๆ ใน ประติทินบัตร  นิตยสารรายเดือนซึ่งตีพิมพ์ฉบับแรกในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยโรงพิมพ์บางกอกประสิทธิการกอมปนี ลิมิเตด ซึ่งเจ้าของหนังสือและโรงพิมพ์นี้คือ เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมศึกษาธิการในขณะนั้น

ความรู้มาตรฐานกับโรงพิมพ์ชาวบ้าน

  ด้วยนโยบายการเผยแพร่ความรู้ของหอพระสมุดฯ ที่เน้นให้เอกชนนำต้นฉบับไปจัดพิมพ์เอง ทั้งในรูปของสินค้าและหนังสือแจกในงานศพ ทำให้การพิมพ์และตลาดหนังสือขยายตัวขึ้นมาก นอกเหนือจากโรงพิมพ์ของพวกมิชชันนารีแล้ว เจ้านายที่เป็นคนไทยก็เริ่มตั้งโรงพิมพ์เอง โรงพิมพ์ในยุคนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า ๒๐ โรง เช่น โรงพิมพ์ไทย โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์วัชรินทร์ โรงพิมพ์อักษรนิติ์ โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย และโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

  ต่อมาไม่นาน โรงพิมพ์ของสามัญชน อย่างเช่น โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ (โรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ) ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ซึ่งมีชื่อเสียงในการพิมพ์เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ  และนิทานพื้นบ้าน ขายเล่มละ ๒๕ สตางค์ ซึ่งเรียกรวมกันว่า วรรณกรรมวัดเกาะ  เข้าใจว่าในช่วงนี้แท่นพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์ต่างๆ ถูกสั่งเข้ามาขายมากขึ้นและมีราคาที่ถูกลง

  โรงพิมพ์เหล่านี้เองที่เข้ามาสืบทอดภารกิจการจัดพิมพ์หนังสือสำคัญๆ ของชาติไปจากโรงพิมพ์หลวง และต่อจากนั้นไม่นาน โรงอักษรพิมพการก็ได้ถูกสั่งยุบเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๔๓๙
ไชยเชฐ เล่ม ๒ พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ภาพจาก www.sac.or.th

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค ธงสยาม

Stacks Image 8068
ดีบี ธงสยาม (DB TongSiam X) ๓ น้ำหนัก ๖ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
2019 | Thaifaces.com |
8,210