ด้วยนโยบายการเผยแพร่ความรู้ของหอพระสมุดฯ ที่เน้นให้เอกชนนำต้นฉบับไปจัดพิมพ์เอง ทั้งในรูปของสินค้าและหนังสือแจกในงานศพ ทำให้การพิมพ์และตลาดหนังสือขยายตัวขึ้นมาก นอกเหนือจากโรงพิมพ์ของพวกมิชชันนารีแล้ว เจ้านายที่เป็นคนไทยก็เริ่มตั้งโรงพิมพ์เอง โรงพิมพ์ในยุคนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า ๒๐ โรง เช่น โรงพิมพ์ไทย โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์วัชรินทร์ โรงพิมพ์อักษรนิติ์ โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย และโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
ต่อมาไม่นาน โรงพิมพ์ของสามัญชน อย่างเช่น โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ (โรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ) ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ซึ่งมีชื่อเสียงในการพิมพ์เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ และนิทานพื้นบ้าน ขายเล่มละ ๒๕ สตางค์ ซึ่งเรียกรวมกันว่า
วรรณกรรมวัดเกาะ เข้าใจว่าในช่วงนี้แท่นพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์ต่างๆ ถูกสั่งเข้ามาขายมากขึ้นและมีราคาที่ถูกลง
โรงพิมพ์เหล่านี้เองที่เข้ามาสืบทอดภารกิจการจัดพิมพ์หนังสือสำคัญๆ ของชาติไปจากโรงพิมพ์หลวง และต่อจากนั้นไม่นาน โรงอักษรพิมพการก็ได้ถูกสั่งยุบเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๔๓๙