10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
ForSor

ตัวพิมพ์ กับการศึกษาระบบโรงเรียน

ForSor Timeline
  ในตอนต้นของรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ การส่งเสริมการศึกษายังจำกัดอยู่เฉพาะสำหรับชนชั้นสูง มุ่งให้พระบรมวงศานุวงศ์และบุตรหลานข้าราชการเข้าฝึกหัดเพื่อรับราชการ ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ โรงเรียนก็ยังเป็นของวังและมิชชันนารี มีหน้าที่ผลิตคนเพื่อป้อนข้าราชการให้แก่ระบบราชการและเสมียนให้แก่ห้างร้านเป็นส่วนมาก

ระบบการศึกษาแห่งชาติ ความจำเป็นอันรีบด่วน

  เบื้องหลังการปฏิรูปการศึกษานับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ คือการคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก สภาพการณ์นี้ได้ทำให้สำนึกความเป็นสยามสั่นคลอนอย่างรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การเร่งพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญตามเยี่ยงอย่างอารยประเทศ รวมทั้งแนวคิดที่ว่า สยามจะรอดพ้นการคุกคามและดำรงสถานะรัฐเอกราชต่อไปได้ ก็ด้วยการปรับปรุงการเมืองการปกครองให้รวมศูนย์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  ยกตัวอย่าง เช่น การรถไฟและไปรษณีย์ นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อนำความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ แล้ว ยังเป็นการกระชับเครือข่ายการคมนาคมระหว่างส่วนภูมิภาคกับส่วนกลางอีกด้วย ในกระบวนการสร้างชาติที่กล่าวมานี้ เราได้เห็นมาแล้วว่า ตัวพิมพ์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน

  การจัดการศึกษาให้ขยายเป็นระดับชาติก็เช่นกัน กลายเป็นวาระรีบด่วนขึ้นมาหลังกรณี ร.ศ. ๑๑๒ หรือการที่ฝรั่งเศสเคลื่อนทัพเรือเข้ามายังพระนครและจบลงด้วยการเสียดินแดนบางส่วน การปฏิรูปครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้การศึกษาซึ่งแต่เดิมอยู่ในความอุปการะของวัดเข้ามาอยู่ในการควบคุมของรัฐโดยตรงและมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

  การกระจายการศึกษาไปสู่สามัญชน ในระยะแรกประสบปัญหาหลายอย่าง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๑ การปฏิรูปการศึกษาในขอบเขตทั่วประเทศจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง ต่อมาจึงมีการออกพระราชบัญญัติประถมศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๗-๑๔ ปีเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา รัฐบาลได้ตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๓

แบบเรียนเพื่อมวลชนและตัวพิมพ์ใหม่

  ภายใต้แนวคิดเรื่องการนับถือวิชาหนังสือ การศึกษาก็คือการอ่านออกเขียนได้ การจัดพิมพ์แบบเรียนและตำราจึงขยายตัวออกไปพร้อมกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๔ มีการจัดพิมพ์หนังสือเรียนชุดแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม หรือที่รู้จักในนาม มูลบทบรรพกิจ  ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เพื่อใช้เป็นแบบเรียนสำหรับโรงเรียนหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์หนังสือชุด แบบเรียนเร็ว  ขึ้นมาเพื่อใช้แทน มูลบทบรรพกิจ เพราะทรงเห็นว่า ชาวบ้านต้องการแบบเรียนที่ง่ายขึ้น และที่สำคัญ สามารถเรียนจบเล่มภายในเวลาอันสั้น

  หลังจากที่แผนการศึกษาใหม่ถูกประกาศใช้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ จำนวนโรงเรียนและนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การพิมพ์แบบเรียนจำนวนมากเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวตกอยู่ในมือของโรงพิมพ์เอกชน โรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ได้แก่ โรงพิมพ์อักษรนิติ์ โรงพิมพ์โสภณพิพรรตธนากร โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์ โรงพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ และโรงพิมพ์พิมพ์ไทย

  ตัวพิมพ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคนี้ปรากฏอยู่ในแบบเรียนทั้งที่เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดยรัฐและเอกชน ตัวพิมพ์วิทยาจารย์ (ชื่อเรียกตาม กำธร สถิรกุล) เกิดขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๔๕๕ ในหนังสือเรียนหลายเล่ม เช่น บทเรียนด้วยของ-วิทยาศาสตร์เบื้องต้น (จัดพิมพ์โดยกรมวิชาการ), เลขมูลศึกษา-คณนาวิทยา (กรมวิชาการ) และ หนังสือสำหรับเด็ก-นายแย็กผู้ฆ่ายักษ์ (กรมราชบัณฑิต) ทั้งหมดนี้เป็นผลงานการพิมพ์ของโรงพิมพ์อักษรนิติ์

  ตัวพิมพ์ชุดนี้มีความหนามากเป็นพิเศษ จุดเด่นคือสามารถใช้เป็นตัวพาดหัวสำหรับแบบเรียนสำหรับเด็กเล็ก แต่ทางโรงพิมพ์อักษรนิติ์นำตัวนี้มาใช้เป็นตัวพื้น ซึ่งปรากฏว่าเหมาะสมดี เพราะมีขนาดใหญ่และอ่านง่าย ตัวพิมพ์ชุดนี้จึงถูกใช้ในแบบเรียนรุ่นต่อมาอีกหลายเล่ม
นายแย็กผู้ฆ่ายักษ์ พ.ศ. ๒๔๕๕
หนังสือสำหรับเด็ก เรื่อง นายแย็กผู้ฆ่ายักษ์ ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) ภาพจากหนังสือ ตัวหนังสือและตัวพิมพ์ โดย กำธร สถิรกุล

สำนักคาทอลิกกับก้าวใหม่ของความรู้และตำรา

  มิชชันนารีนิกายคาทอลิกเป็นสำนักที่ให้ความสำคัญกับหนังสือและการพิมพ์เสมอมา อันที่จริง นักบวชชาวคริสต์นิกายนี้ เป็นผู้นำเอาการพิมพ์เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว "มิชชันนารีคริสตัง" เป็นโรงพิมพ์ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยนั้น (ต่อมากลายเป็นโรงพิมพ์อัสสัมชัญ) แต่หนังสือที่พิมพ์ในสมัยอยุธยาจะเป็นภาษาต่างประเทศหรือไม่ก็เป็น "ภาษาวัด" ซึ่งใช้ตัวพิมพ์โรมันแต่อ่านออกเสียงเป็นไทย

  ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะที่แบรดลีย์กำลังพยายามเผยแพร่สิ่งพิมพ์อยู่นั้น ปาลเลอกัวซ์ สังฆราชของนิกายคาทอลิก ก็กำลังแต่งหนังสือเล่มสำคัญเล่มหนึ่งนั่นคือ พจนานุกรมภาษาไทยที่มีชื่อว่า สัพะ พะจะนะ พาสา ไท
พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์
ฌัง บัปติสต์ ปาลเลอกัวซ์ หรือ พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์
(Jean-Baptiste Pallegoix)
  หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่แต่งโดยสังฆราชปาลเลอกัวซ์คือ ไวยากรณ์ไทย หรือ Grammatica Linguae Thai  (๒๓๘๖) หนังสือเล่มนี้บรรจุตัวอักษรทั้งตัวตรงและเอน ตัวเอนเป็นแบบเดียวกับใน สัพะพะจะนะ พาสา ไท แต่ตัวตรงนั้นมีการออกแบบที่แตกต่างออกไป มีลักษณะหลายอย่างคล้ายกับบรัดเล ทั้งสองเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ในเอกสารของโรงพิมพ์แห่งจักรวรรดิ (Imprimerie impériale) ระบุไว้ว่า ปาลเลอกัวซ์เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ โดยมีช่างผู้แกะตัวชื่อ นายแบร์ทรอง เลออูลิเยต์

  หลังจากนั้น โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้ถูกจัดตั้งขึ้นและดำเนินกิจการเรื่อยมา ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ บาทหลวงเวย์ (J.E.Vey) สังฆราชในสมัยนั้น ได้จัดพิมพ์ ศริพจน์ภาษาไทย๎  ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษาไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษขึ้น โดยเรียบเรียงจาก สัพะ พะจะนะ พาสา ไท  และจัดพิมพ์ขึ้นโดยโรงพิมพ์อัสสัมชัญ

กำเนิดของ “ฝรั่งเศส” ตัวพิมพ์ไทยยอดนิยม

  การศึกษาซึ่งเจริญขึ้นเป็นลำดับทำให้โรงพิมพ์ขยายตัวตาม ระหว่างนี้โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้จัดพิมพ์หนังสือหลายเล่ม เช่น คำสอนเด็กนักเรียน แบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์และคณิตศาสตร์  ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ คณะอัสสัมชัญได้ให้กำเนิดตัวพิมพ์ชุดสำคัญชุดหนึ่งออกมา เข้าใจว่าเป็นตัวพิมพ์ใหม่สำหรับใช้ในโรงพิมพ์ของตนเองโดยเฉพาะ ตัวพิมพ์ชุดนี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย  (Echo de L'Assomption) วารสารรายสี่เดือนของคณะฯ และเป็นที่รู้จักและเรียกกันว่า "ฝรั่งเศส" อันเป็นชื่อที่ใช้กันมาจนสิ้นสุดยุคตัวพิมพ์ตะกั่วหรืออีกเกือบ ๗๐ ปีต่อมา

  จากการค้นคว้าของ กำธร สถิรกุล ตัวพิมพ์ชุดนี้มีชื่อว่า ฝรั่งเศส เพราะแม่ทองแดงที่ใช้หล่อตัวพิมพ์ ทำมาจากประเทศฝรั่งเศส สันนิษฐานว่า โครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ หลุยส์ รอมิเออ ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์อัสสัมชัญ (ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๕๖) ส่วน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย  ในขณะนั้นมีภราดา ฟ. ฮีแลร์ อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นบรรณาธิการและผู้จัดทำ
เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์
ฟ. ฮีแลร์ หรือ ฟร็องซัว ตูเวอแน อีแลร์
(François Touvenet Hilaire)
  ด้วยความละเอียดประณีตและชั้นเชิงในการออกแบบ ตัวพิมพ์ชุด ฝรั่งเศส จึงมีความน่าสนใจทั้งในแง่รูปแบบและประโยชน์ใช้สอย อาจกล่าวได้ว่า ตัวพิมพ์ชุดนี้มีความสมบูรณ์ที่สุดชุดหนึ่ง บทพิสูจน์ก็คือ ตลอดช่วงเวลาเกือบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ตัวพิมพ์นี้ก็ยังได้รับความนิยมและคงความทันสมัย

  ผลงานสำคัญของคณะภราดาอัสสัมชัญ เช่น แบบเรียนชุด ดรุณศึกษา ซึ่งแต่งโดย ฟ. ฮีแลร์ (พ.ศ. ๒๔๕๗) มีส่วนวางรากฐานความรู้และศิลปะวิทยาการของไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ตัวพิมพ์ชุดนี้ก็เช่นกัน ฝรั่งเศสกลายเป็นตัวพิมพ์ที่ได้ชื่อว่ามีความสวยงาม คุณภาพสูง ต่อมาก็แพร่กระจายออกไปและเป็นที่นิยมไปทั่ว
หนังสือดรุณศึกษา เล่ม 1 พ.ศ. ๒๕๐๐
หนังสือ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ (เล่ม ๑) พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๕๐๐ ภาพจาก ห้องสมุดดิจิทัล หอสมุดแห่งชาติ

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค ฝรั่งเศส

Stacks Image 8202
อีเอซี อีเอซีที (EAC Eact) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย อี๊สเอเชียติ๊ก
Stacks Image 8204
อังศณา (Angsana) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ยูนิตี้ โพรเกรส
Stacks Image 8206
ดีบี นารายณ์ (DB Narai X) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 8223
พิมพการ (TF Pimpakarn) ๒ น้ำหนัก ๔ รูปแบบ โดย สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์
2019 | Thaifaces.com |
7,520