10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
KanaChang

ตัวพิมพ์ กับศิลปะเพื่อการค้า

KanaChang Timeline
  แม้ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยจะประสบความยุ่งยากจากการยึดครองของญี่ปุ่น แต่เมื่อสงครามผ่านพ้นไป เศรษฐกิจของไทยก็มิได้กระทบกระเทือนมากนัก การสะสมทุนได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการล่าถอยของเจ้าอาณานิคมออกไปจากภูมิภาคและการที่เศรษฐกิจแบบตลาดภายในประเทศเติบโตขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัวไปทั่วประเทศเพื่อรองรับชนชั้นกลาง อันประกอบไปด้วยข้าราชการและผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลาย ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความต้องการบริโภคสินค้า ข้อมูลข่าวสาร และสื่อบันเทิงอย่างขนานใหญ่

การเติบโตของสิ่งพิมพ์ในชุมชนเมือง

  นับจากช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ หรือเมื่อการพิมพ์ในสยามมีอายุได้ราวร้อยปี สิ่งพิมพ์ซึ่งยังคงเป็น “สื่อหลัก” ของสังคม มีการพัฒนาทางด้านปริมาณและคุณภาพเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในระดับบนที่ดำเนินการโดยรัฐ หรือระดับล่างซึ่งเร่งเร้าโดยการค้าเอกชน หนังสือแนวที่เติบโตเร็วมากในยุคนี้คือ นิตยสารและหนังสือต่างๆ ทั้งที่เป็นตำรา ความรู้ และวรรณกรรมแนวบันเทิงเริงรมย์

  สองทศวรรษก่อน ๒๕๐๐ จึงเป็นยุคของสำนักพิมพ์สำคัญๆ เช่น เพลินจิตต์ และ ไทยพาณิชยการ เพลินจิตต์เป็นแหล่งผลิตหนังสือประเภทบันเทิงเริงรมย์และนวนิยาย ส่วนไทยพาณิชยการผลิตหนังสือพิมพ์ ไทยรายวัน สยามสมัย พิมพ์ไทย สยามนิกร  และ เริงรมย์  ส่วนหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ๆ เช่น สยามรัฐ  รวมทั้งโรงพิมพ์ใหญ่ๆ เช่น ไทยวัฒนาพานิช คุรุสภา ต่างก็ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ ๒๔๙๐
Stacks Image 7927
สยามสมัย รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๑ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๙๐ พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ไทยพาณิชยการ ภาพจาก library.car.chula.ac.th
Stacks Image 7930
เพลินจิตต์ พิเศษ เล่มที่ ๑ ประจำเดือน มีนาคม ๒๔๙๕ พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ศิริอักษร ภาพจาก paifarlovebook.lnwshop.com
  กิจการหล่อตัวพิมพ์ขยายตัวตามความเจริญของการพิมพ์ โดยมี ห้างสมุด ตงเซียม อักษรกิจ และ สหสยามพัฒนา เป็นโรงหล่อตัวเรียงที่มีชื่อเสียง มีการสร้างตัวพิมพ์ที่มีแบบและขนาดหลากหลายมากขึ้น

  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางด้านรูปแบบของตัวพิมพ์นั้นนับว่ายังจำกัด คือมุ่งปรับปรุงตัวธรรมดา ซึ่งหมายถึงตัวที่มีขนาดประมาณ ๑๙ ๑/๒ พอยต์ และเกิดมีแบบเพิ่มขึ้นอีกสี่ห้าแบบ พัฒนาการอีกอย่างคือ มีตัวหนา (bold) เช่น ตัวฝรั่งเศสดำ และตัวจิ๋วแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
Stacks Image 7935

กำเนิดของกลุ่มศิลปินและช่างฝีมืออิสระ

  การเติบโตของการพิมพ์ในยุคนี้ สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางด้านศิลปวัฒนธรรมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเกิดขึ้นในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม วรรณกรรม และภาพยนตร์ ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในยุคเดียวกันนี้คือ การรวมตัวกันอย่างเป็นกลุ่มก้อนของปัญญาชน ช่างฝีมือ และศิลปิน

  กล่าวเฉพาะในวงการหนังสือพิมพ์นับแต่ยุคก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการก่อตัวของนิตยสาร สุภาพบุรุษรายปักษ์  ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์เริ่มประกาศตัวเป็นมืออาชีพ ความเป็นมืออาชีพนี้มีนัยว่า นักเขียนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการทำหนังสือเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกัน การประกาศว่าการเขียนเป็นอาชีพอิสระ ยังหมายความว่า พวกเขาไม่ใช่ลูกจ้างซึ่งต้องขึ้นต่อนายจ้างอย่างไร้เงื่อนไข แม้นักเขียนจะไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ แต่ก็มีความเป็นตัวของตัวเอง
Stacks Image 7938
สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ภาพจาก sriburapa.blogspot.com
  บทบาทของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (หรือรู้จักกันดีในนามปากกาว่า ศรีบูรพา) และนักเขียนอีกหลายท่านในกลุ่ม “สุภาพบุรุษ” ได้ยกระดับวิชาชีพด้านหนังสือพิมพ์ขึ้นสู่ความมีสถานะทางสังคม รวมทั้งยังทำให้อาชีพนี้เริ่มเป็นที่ยอมรับว่า มีความเป็นปัญญาชนและสำนึกแห่งสิทธิเสรีภาพ ต่อมาการรวมกลุ่มของนักหนังสือพิมพ์ที่สังกัดค่ายของโรงพิมพ์ต่างๆ เช่น พิมพ์ไทย  และ สยามรัฐ  จึงเกิดตามมา

ร้านบล็อก สำนักช่าง กับงานออกแบบเพื่อการค้า

  แนวคิดเรื่องนักวิชาชีพอิสระไม่ได้จำกัดตัวเองหรือเกิดขึ้นเฉพาะกับอาชีพนักเขียน แต่ยังรวมถึงศิลปินหรือช่างฝีมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น การพัฒนาด้านวิชาชีพการพิมพ์ก่อให้เกิดการก่อตั้ง สมาคมการพิมพ์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมการพิมพ์ไทย) ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙

  อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในยุคของการก่อรูปเป็นอุตสาหกรรม แต่กิจการการพิมพ์ในประเทศไทยก็ยังไม่ได้เติบใหญ่ไปถึงขั้นที่จะสร้างตัวตะกั่วได้มากมายหลายแบบตามใจผู้ใช้ ทางออกที่นิยมกันมากคือ ตัวประดิษฐ์ หรือการวาดตัวอักษรด้วยมือ แล้วนำไปทำแม่พิมพ์อีกทีหนึ่ง

  ในยุคนี้เองที่ร้านบล็อกกลายเป็นหน่วยการผลิตที่แยกต่างหากออกมาจากโรงพิมพ์ การที่ฝ่ายศิลป์ทวีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ร้านบล็อกไม่ได้เป็นเพียงหน่วยเล็กๆ หน่วยหนึ่งในกระบวนการผลิต แต่มีสถานะเป็น "สำนักงานช่าง" และเป็นที่รวมของศิลปินสำคัญหลายคน เกิดการตั้งตัวเป็นสำนักหรือป้อมค่ายที่แน่นอนชัดเจนและมีฐานการตลาดที่กว้างใหญ่ขึ้น เช่น รับจ้างออกแบบโฆษณา หรือ รับงานออกแบบตกแต่งหน้าตาของสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ

  ร้านบล็อกที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ศิลปกรรม ศิลปาคาร คณะช่าง คณะเหม ห้องศิลป เสน่ห์ศิลป สยามศิลป ทาร์ซาน ต่างเป็น "สำนัก" ที่รวมเอาช่างที่มีฝีมือดีๆ ไว้ในสังกัด เราจะเห็นเครือข่ายกิจการอันกว้างขวางของร้านบล็อกได้จากโฆษณาของร้านสยามศิลป
Stacks Image 7947
โฆษณาร้านสยามศิลป ตีพิมพ์ใน ข่าวการแพทย์ วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ภาพจากหนังสือ โฆษณาคลาสสิค โดย เอนก นาวิกมูล
  สำนักงานออกแบบชื่อดังของยุคนั้นคือ คณะช่าง ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และดำเนินกิจการสืบต่อมาอีกกว่า ๓๐ ปี เจ้าของคือ เปรื่อง แสงเถกิง ผู้เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง ส่วนศิลปินของคณะช่างที่มีชื่อเสียงอีกท่านคือ อาด อ๊อดอำไพ
Stacks Image 7949
Stacks Image 7952
นายเปรื่อง แสงเถกิง คนไทย “คนแรก” ที่ซื้อแท่นพิมพ์ออฟเซตมาใช้การพิมพ์ในประเทศไทย
Stacks Image 7957
โฆษณาบริษัทคณะช่าง ตีพิมพ์ใน สุภาพนารี วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ภาพจากหนังสือ โฆษณาไทย เล่ม ๒ โดย เอนก นาวิกมูล

โรงเรียนและสถาบันศิลปะสำหรับคนทั่วไป

  เมื่อศิลปะเพื่อการค้าเจริญขึ้นและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง สถาบันศิลปะและการช่าง เช่น โรงเรียนเพาะช่าง เริ่มสนองตอบความต้องการของตลาดด้วยการแยกการเรียนการสอนด้านนี้ออกเป็นอีกแขนงหนึ่งโดยเฉพาะ เรียกชื่อว่า สาขาพาณิชย์ศิลป์ และในเวลาไล่เลี่ยกัน วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ก็เริ่มเปิดสอนวิชาช่างพิมพ์

  หลังจากที่ทักษะและฝีมือด้านนี้ กลายเป็นที่สนใจ และกลายเป็นวิชาชีพที่มีผู้นับหน้าถือตา สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ หนังสือคู่มือสำหรับศิลปิน นักวาดรูป รวมทั้งช่างในสาขาต่างๆ (ไมว่าจะเป็นงานตกแต่งภายในหรือก่อสร้าง) หลั่งไหลออกมาสู่ท้องตลาด ในช่วงนี้เองที่หนังสือแนะนำวิธีการวาดตัวประดิษฐ์ปรากฏออกมามากมาย สำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือเหล่านี้ ได้แก่ คณะช่าง หนึ่งในร้านบล็อกที่มีชื่อเสียงของสมัยนั้น และหนังสือบางเล่มจากยุคนั้น เช่น คู่มือประดิษฐ์อักษร  ของ เชิดชัย เพชราพันธ์ ยังมีการพิมพ์ออกมาจำหน่ายตราบจนทุกวันนี้
คู่มือประดิษฐ์อักษร โดย เชิดชัย เพชราพันธ์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๑๓ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๔ และครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๓

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค คณะช่าง

Stacks Image 7976
เอสอาร์ ฟ้าทะลายโจร โดย ไพโรจน์ ธีระประภา (โรจ สยามรวย)
2019 | Thaifaces.com |
6,595