10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
Manoptica

ตัวพิมพ์ กับอักษรลอกหรือทางเลือกใหม่

Manoptica Timeline
  หลังจากที่ได้รับใช้กระบวนการพิมพ์หนังสือมาอย่างยาวนาน ตัวพิมพ์ตะกั่วก็ลดความสำคัญลงอย่างฮวบฮาบในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ เนื่องจากเทคโนโลยีแบบอื่นๆ ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเกิดความต้องการแบบตัวพิมพ์ใหม่ๆ เป็นอย่างมาก

  ในด้านหนึ่ง เป็นไปดังที่กล่าวมาแล้วคือ ความต้องการดังกล่าวได้รับการตอบสนองด้วยตัวประดิษฐ์ ที่เกิดจากการวาดโดยนักออกแบบหรือฝ่ายศิลป์ตามร้านบล็อกและโรงพิมพ์ ในอีกด้านหนึ่ง มีตัวพิมพ์ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวพาดหัว (headline) สำหรับหนังสือพิมพ์และโฆษณาได้ดีกว่าตัวประดิษฐ์และตัวตะกั่ว นั่นคือ อักษรลอก การใช้อักษรลอกเริ่มขึ้นในวงการโฆษณา แล้วต่อมาจึงขยายไปสู่วงการหนังสือพิมพ์

  การพิมพ์ระบบออฟเซตเปิดโอกาสให้ อักษรลอก ได้รับความนิยมขึ้นมา เพราะการพิมพ์ระบบนี้ต้องการเพียงการถ่ายทอดตัวอักษรลงบนแบบหรืออาร์ตเวิร์ก ซึ่งหมายความว่าอาจหันไปใช้วิธีอื่นนอกเหนือจากการพิมพ์ด้วยตัวตะกั่วก็ได้

  อักษรลอก หรือ dry-transfer letter มีชื่อเรียกลำลองว่าตัวขูด เป็นรูปลอกที่ทำเป็นรูปอักษรครบชุด มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ ๔ ไปจนถึง ๒๐ มม. วิธีใช้ก็คือนำมาขูดลงบนอาร์ตเวิร์กทีละตัว ด้วยกรรมวิธีเดียวกับการขูดรูปลอกความยากลำบากของวิธีนี้ อยู่ที่การจัดตำแหน่งและช่องไฟของตัวอักษรให้สม่ำเสมอและสวยงาม

  อันที่จริง เราจะเรียกอักษรลอกว่า ตัวพิมพ์ อย่างเต็มภาคภูมิไม่ได้ เพราะไม่สามารถใช้เป็นตัวพื้น การสร้างตัวอักษรพึ่งพามือมากกว่าเครื่องจักร อีกทั้งการวัดขนาดก็เป็นมิลลิเมตร (ไม่ใช่ระบบพอยต์) อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยอักษรลอกได้เข้ามาทำหน้าที่ “ทดแทน” ตัวตะกั่ว โดยเฉพาะตัวดิสเพลย์ซึ่งมีอยู่น้อยมาก มันจึงมีบทบาทอยู่เป็นเวลานาน และเป็นแบบอย่างให้แก่การออกแบบตัวพิมพ์ในยุคปัจจุบันหลายแบบ

  อักษรลอกส่วนหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา เกิดจากความร่วมมือกับ บริษัท แมคคานอร์ม่า (Mecanorma) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ในยุคเดียวกันนั้น มีอักษรลอกของบริษัทอื่น เช่น เลตราเซต (Letraset) ประเทศอังกฤษด้วย

  อีกสิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเกี่ยวกับอักษรลอกก็คือ ผลงานออกแบบส่วนมากเป็นของ มานพ ศรีสมพร เขาได้ออกแบบอักษรลอกไว้เป็นจำนวนมากกว่า ๒๐ แบบ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคโฟโต้ไทป์เซตติ้งและดิจิตอล มานพยังได้มีบทบาทในการออกแบบตัวพิมพ์ที่สวยงามอีกหลายแบบ นับได้ว่า เป็นนักออกแบบคนเดียวที่มีผลงานในการสร้างตัวพิมพ์ต่อเนื่องกันถึงสี่ยุค ได้แก่ ยุคตัวประดิษฐ์ อักษรลอก โฟโต้ไทป์เซตติ้ง และโพสต์สคริปท์ อีกทั้งมีโอกาสร่วมงานกับบริษัทผลิตแบบตัวพิมพ์ที่สำคัญๆ เกือบทุกบริษัท

  อักษรลอกของไทย เกิดจากการริเริ่มของผู้กำกับฝ่ายศิลป์ชาวสวิสคนหนึ่งของบริษัทดีทแฮล์ม ซึ่งต้องการตัวพิมพ์แบบใหม่ๆ มาใช้ในงานโฆษณา และได้ดำเนินการชักนำให้บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา มาลงทุนในโครงการนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ มานพซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ในแผนกโฆษณาของดีทแฮล์มได้กลายเป็นผู้ออกแบบอักษรลอกหลายชุด ชุดแรกผลิตออกจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ตามด้วยชุดอื่นๆ จนครบ ๒๑ ชุดในปี พ.ศ. ๒๕๒๒

  “มานพติก้า” เป็นหนึ่งในชุดอักษรลอกดังกล่าว ในการออกแบบตัวมานพติก้า มานพมีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ต้องการตัวพิมพ์ไทยที่มีบุคลิกที่เหมือนกับเฮลเวติก้า (Helvetica) ตัวพิมพ์ภาษาโรมันที่โด่งดังที่สุดในสมัยนั้น มานพติก้า มีความหนาบางให้เลือกถึง ๔ แบบ ตัวไม่มีหัวของอักษรลอกอีกหลายแบบก็มีเป้าหมายคล้ายมานพติก้า นั่นคือ ใช้เป็นตัวดิสเพลย์ในงานโฆษณา
อักษรลอกแบบ “มานพติก้า” ภายใต้แบรนด์ Mecanorma ออกแบบโดย มานพ ศรีสมพร
  ผลงานที่โดดเด่นอีกแบบของมานพได้แก่ตัว “มานพ 2” ซึ่งดัดแปลงมาจากตัวตะกั่วที่ชื่อ “ฝรั่งเศสดำ” (ย่อว่า ฝ.ศ. ดำ) มานพ 2 มีความสวยงามลงตัว เป็นที่นิยมใช้ทั้งกับงานราชการและเอกชนทั่วไป อีกตัวหนึ่งคือ “มานพ 5” ซึ่งในปัจจุบันจะพบเห็นได้บนป้ายชื่อตรอกซอกซอยถนนหนทาง ทางด่วน และทางหลวงทั่วประเทศ มานพ 5 เป็นตัวพิมพ์ซึ่งถอดแบบมาจากตัวอักษรที่ใช้ในงานการรถไฟ จุดเด่นคือมีหัวที่บอดหรือเป็นวงกลมทึบ สัดส่วนของความหนาบางของเส้นต่างกัน ปลายเส้นตั้งโค้งมน
Stacks Image 7820
อักษรลอกแบบ “มานพ 2” ออกแบบโดย มานพ ศรีสมพร ภาพจากหนังสือ ออกแบบอักษร
Stacks Image 7824
อักษรลอกแบบ “มานพ 5” ออกแบบโดย มานพ ศรีสมพร ภาพจากหนังสือ ออกแบบอักษร
  นอกจากนั้น ยุคอักษรลอกยังมีผลงานของนักออกแบบคนอื่นๆ เช่น “สำคัญ” (ออกแบบโดย สำคัญ โกศัลวัฒน์) แบบที่โด่งดังของชุดนี้ ได้แก่ “สำคัญ 2” ซึ่งเป็นตัวที่ใช้บนป้ายจราจรมากเช่นเดียวกับ “มานพ 5” อักษรลอกชุดนี้ถูกดัดแปลงมาเป็นตัวหัวและพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับในปัจจุบัน อีกแบบหนึ่งคือ “สำคัญ 5” ซึ่งมีบุคลิกที่โดดเด่นมากตรงที่เส้นหนาเป็นพิเศษ
Stacks Image 7822
อักษรลอกแบบ “สำคัญ 2” และ “สำคัญ 5” ออกแบบโดย สำคัญ โกศัลวัฒน์ ภาพจากหนังสือ ออกแบบอักษร
  ยุคทองของอักษรลอกน่าจะได้แก่ ช่วงสองสามปีหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ อันเป็นช่วงที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนประกอบกิจกรรมทางการเมืองอย่างคึกคักยิ่ง ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ มีการพิมพ์โปสเตอร์ทางการเมืองและใบปลิวต่างๆ กันขนานใหญ่ การใช้อักษรลอกและการพิมพ์ด้วยระบบออฟเซตช่วยสนองความต้องการด้านความรวดเร็วฉับไว ทำให้กิจกรรมเกิดความคล่องตัว

  จาก พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๐ อักษรลอกแพร่หลายอยู่นานนับเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี ก่อนที่ตัวพิมพ์ระบบโฟโต้ไทป์เซตติ้งกับดิจิตอลจะพัฒนาขึ้นมาและสามารถเข้ามาแทนที่ได้

แบบตัวพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุค มานพติก้า

Stacks Image 7800
ดีบี มานพติก้า (DB Manoptica) ๓ น้ำหนัก ๖ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
Stacks Image 7836
ดีบี สำคัญ สแควร์ (DB Sumkan Square) ๖ น้ำหนัก ๓๖ รูปแบบ โดย ดีบี ดีไซน์
2019 | Thaifaces.com |
9,074