10 ตัวพิมพ์กับ 10 ยุคสังคมไทย
10 Faces of Thai Type
Stacks Image 44
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
นิทรรศการ ๑๐ ตัวพิมพ์ กับสังคมไทย    ๑๘–๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕    หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณ
คุณกำธร สถิรกุล, คุณมานพ ศรีสมพร, คุณนิรัตน์ เจริญผล, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,
คุณเอนก นาวิกมูล, คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์, คุณนพวรรณ เจริญวิทย์, ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช,
คุณสมบัติ พลายน้อย, คุณพีระ ต. สุวรรณ, คุณปราสาท วีรกุล, อาจารย์นพพร ประชากุล, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญ,
โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม, โรงหล่อตัวพิมพ์รุ่งเรืองอักษร, หอสมุดแห่งชาติ
บทความนี้เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์ โดยการสนับสนุนของ เอส. ซี. แมทซ์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี “๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย” ฉบับที่ ๒๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ และ
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย หนังสือประกอบนิทรรศการ “๑๐ ตัวพิมพ์กับสังคมไทย” โดย ประชา สุวีรานนท์
Close
Stacks Image 478
แกะรอยตัวพิมพ์ไทย

นำเรื่อง

  ย้อนหลังไปครั้ง ๕๐๐ กว่าปีก่อน เมื่อกูเทนแบร์ก (Gutenberg) ประดิษฐ์เทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นนั้น เขาคงมิได้คาดคิดว่า ตัวพิมพ์เล็กๆ ที่เรียงรายอยู่บนแท่นพิมพ์ของเขาจะแฝงไว้ด้วยพลังขับเคลื่อนอันยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมและการเมือง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกตะวันตกไปอย่างสิ้นเชิงในเวลาต่อมา

  ด้วยความสามารถในการผลิตเอกสารซ้ำอย่างรวดเร็วและเที่ยงตรงแม่นยำเป็นจำนวนมหาศาล การพิมพ์ก่อให้เกิดการแพร่สะพัดของวิชาความรู้ไปทุกหัวระแหง และยังส่งผลต่อการก่อตัวของรัฐในรูปแบบสมัยใหม่ที่เรียกว่า ชาติ ต่อมาในยุคอุตสาหกรรมที่พลังทางเศรษฐกิจของตะวันตกเบ่งบานเต็มที่ ตัวพิมพ์ได้ไหลเวียนควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวขนานใหญ่ของสินค้า ความคิด และผู้คน ตราบจนปัจจุบัน ความสำคัญของตัวพิมพ์ก็ยังยืนยงอยู่ต่อมาในยุคข้อมูลข่าวสาร

  ตัวพิมพ์คือการผลิตซ้ำรูปอักษรด้วยวิธีกลไก ทำให้ได้รูปอักษรที่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ต่างไปจากลายมืออันหลากหลายและอ่านง่ายบ้างยากบ้างตามเจ้าของลายมือแต่ละคน ตัวพิมพ์จึงนับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เบิกทางให้แก่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ซึ่งให้ความสำคัญกับ ความเป็นระเบียบ ความสม่ำเสมอ และความถูกหลักเหตุผล อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตัวพิมพ์ได้ปลดปล่อยผู้อ่านจากการเสียเวลาทำความคุ้นเคยกับแบบลายมือเฉพาะราย ตัวพิมพ์ก็ผูกมัดผู้อ่านไว้กับมาตรฐานเชิงรูปลักษณ์ของตัวอักษรซึ่งสัมพันธ์กับสังคมและประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด

  กล่าวสำหรับสังคมไทย เมื่อแรกที่เทคโนโลยีการพิมพ์ถูกนำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓ และ ๔ นั้น เป็นยุคที่ตัวพิมพ์ไทยกำลังก่อร่างสร้างตัว โดยยังเป็นเพียงของประดิษฐ์แปลกใหม่ที่จำกัดการใช้อยู่ในวงแคบๆ เช่น ในหมู่มิขขันนารีและเจ้านาย จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ชนชั้นปกครองของสยามก็ตระหนักถึงศักยภาพของการพิมพ์ในอันที่จะเป็นเครื่องมือรับใช้การสร้างรัฐแบบรวมศูนย์ จึงเกิดการประมวลวิชาความรู้แล้วตรึงไว้เป็นมาตรฐานในรูปของตัวพิมพ์ ตลอดจนใช้ตัวพิมพ์เป็นสื่อสร้างบรรทัดฐานของภาษาเขียนสำหรับคนทั่วประเทศ นี่คือยุคที่ตัวพิมพ์ถูกดึงให้เข้าร่วมในการสร้างชาติ

  นอกจากจะรับใช้ในด้านการศึกษาและการเมืองแล้ว ในยุคสมัยต่อมา ตัวพิมพ์ยังได้มีบทบาทสำคัญในด้านการพาณิชย์อีกด้วย กระทั่งถึงในยุคปัจจุบันที่สื่อสารมวลชนเติบโตขึ้นมาจนมีอิทธิพลมหาศาลในสังคมไทย ตัวพิมพ์จึงได้แผ่ซ่านเข้าไปในทุกเสี้ยวส่วนของชีวิตผู้คน นับเป็นยุคที่ตัวพิมพ์ได้ตกลงมาอยู่ในมือของมหาชนอย่างแท้จริง

  ทุกวันนี้ ตัวพิมพ์เป็นสิ่งที่ทุกคน “อ่าน” แต่ก็เสมือนว่าไม่มีใคร “มองเห็น” นั่นเป็นเพราะเราต่างรู้สึกกันไปว่า ในฐานะตัวแทนของเสียงพูด ตัวพิมพ์เป็นเพียงสื่อหรือพาหะซึ่งทำหน้าที่ให้ตัวสาร (message) มาเกาะอิง เมื่อทำหน้าที่สื่อสารสำเร็จลุล่วงแล้ว มันก็ย่อมหมดความหมายและไร้ประโยชน์ไปในทันที

  ความเข้าใจเช่นนี้ ใช่ว่าจะผิดพลาดแต่ก็คลาดเคลื่อน ในความเป็นจริงแล้ว ตัวพิมพ์ยังมีมิติอื่นนอกเหนือจากความเป็นสื่อที่โปร่งใส กล่าวคือ รูปลักษณ์ของมันสามารถบ่งบอกบางสิ่งบางอย่างที่อยู่พ้นไปจากตัวสาร บางสิ่งบางอย่างที่ว่านี้อาจจะเป็นความเคร่งครัดเป็นทางการ ความทันสมัย ความเป็นไทย ความตื่นเต้นเร้าใจ ความสนุกโลดโผน ฯลฯ

  จึงอาจกล่าวได้ว่า นอกจากตัวพิมพ์จะเป็นเครื่องหมายที่ใช้แทนเสียงแล้ว รูปร่างหน้าตาของตัวพิมพ์ยังช่วยกำหนด “สำเนียง” ของเสียงนั้นๆ ด้วย สำเนียงดังกล่าวทำหน้าที่สร้างเฉดความหมายและบุคลิกที่ต่างๆ กันไปสำหรับเนื้อหาที่สื่อไว้ในสาร

  ๑๐ ตัวพิมพ์ที่ได้เลือกสรรมาเป็นตัวแทนของ ๑๐ ยุคสังคมไทยนี้ คงพอจะช่วยแสดงให้เห็นว่า ตัวพิมพ์มีพัฒนาการที่สนิทแนบแน่นกับทั้งความก้าวหน้าและความถดถอย ในสังคมของเรา บรรดาตัวพิมพ์มิได้เพียงหล่อหลอมขึ้นมาจากเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง หากยังอัดแน่นไปด้วยความทรงจำทางสังคมอันยาวนานถึง ๑๖๐ ปี อีกทั้งได้ส่งเสียงและสำเนียงต่างๆ กันตลอดมาบนเส้นทางของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
  • ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย
    Default
2019 | Thaifaces.com |
30,659